ภาพพระสุนทรีวาณี (ฉบับวัดสุทัศน์) ของเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม รูปที่ 3 (พ.ศ. 2421-2443)
ประวัติภาพพระสุนทรีวาณี เป็นภาพนิมิตในเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒนมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 3 พระอุปัชฌาย์ในเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม และ เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ท่านได้ให้หมื่นสิริธัชสังกาศ เจ้ากรมม (แดง) มาวาดขึ้นและตั้งภาพนี้ไว้ที่หัวนอน ท่านเจริญพระคาถานี้อยู่เป็นประจำ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ดังที่ปรากฏใน พระราชหัตถเลขาฯ ทรงพระราชวิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาหินยานกับมหายาน และเรื่องสร้างพระบฏหลวง
รูปพระสุนทรีวาณีนั้น หมายถึง พระธรรม ดอกบัว หมายถึง พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ตามที่มาในพระคาถานี้เป็นหลัก
มุนินทะ วะทะนัมพุชะ | คัพภะสัมภะวะ สุนทะรี |
ปาณีนัง สะระณัง วาณี | มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง |
วาณี นางฟ้า คือพระไตรปิฎก มุนินทะ วะทะนัมพุชะ คัพภะสัมภะวะ สุนทะรี มีรูปอันนาม เกิดแต่ห้องแห่งดอกบัว คือ พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมแห่งนักปราชญ์ทั้งหลาย ปาณีนัง สะระณัง เป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ผู้มีปราณทั้งหลาย มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง จงยังใจแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายให้ยินดี
เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง) กล่าวว่า พระอาจารย์ของท่านทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ สอนให้บริกรรมคาถานี้ ก่อนที่จะเริ่มเรียนพระปริยัติธรรม ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดราชสิทธาราม เป็นต้น ล้วนนับถือคาถานี้อยู่ทั่วกันจนกระทั่งอาราธนาธรรมก็ใช้คาถานี้ จึงคิดเอามาผูกเป็นรูปปรุงเปรียบเข้าอีกหลายอย่าง หัตถ์ขวาแห่งพระสุนทรีวาณีซึ่งทำให้เป็นอาการกวักนั้น เพื่อที่จะให้ได้กับคำว่า “เอหิปัสสิโก” ที่มาในพระธรรมคุณ มีความหมายว่า เชิญมาดูเถิด เชิญมาศึกษาพระธรรมที่เป็นอริยสัจเถิด ดวงแก้วในหัตถ์ซ้ายนั้นเปรียบเป็น “อมตะ หรือ อมตะธรรม คือ พระนิพพาน” รูปบุรุษเบื้องขวานั้นเปรียบเป็น “ภิกษุสงฆ์สาวก” รูปสตรีเบื้องซ้ายนั้นเปรียบเป็น “ภิกษุณีสงฆ์สาวิกา” เทวดาแถวล่างนั้นหมายถึง “เทวโลก” พรหมแถวบนหมายถึง “พรหมโลก” ต่างมาทำสักการบูชา น่านน้ำภายใต้นั้นเปรียบด้วย “สังสารวัฏฏ์” การเวียนว่ายตายเกิด นาคและสัตว์น้ำนั้นเปรียบเป็น “พุทธบริษัท” กล่าวโดยนัยการสอนธรรมะตามภาพพระบฏนี้ หมายถึง บุคคลผู้ใดได้พึงปฏิบัติตามพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมพ้นสภาวะทุกข์ มีจิตที่ผมใสปราศจากกิเลส พ้นการเวียนว่ายตายเกิดแห่งวัฏฏสงสาร และน้อมเข้าสู่พระนิพพาน เปรียบเสมือนดวงแก้วในหัตถ์ซ้าย คือ พระนิพพาน
มีเรื่องเล่าขานจากสมัยโบราณสืบต่อกันมาว่า พระคาถานี้เป็นพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดเมื่อเรียนพระไตรปิฎก เรียนพระธรรมจะบังเกิดปัญญางามมีความทรงจำอันล้ำเลิศ โบราณอาจารย์ได้สั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้ท่องทุกครั้งที่เรียนพระไตรปิฎกตลอดมา และอีกเรื่องเล่าหนึ่งผู้ที่ท่องคาถานี้เฉพาะในยุครัตนโกสินทร์ดำรงสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช 3 พระองค์ เป็นพระสมเด็จพระราชาคณะ และเป็นพระมหาเถระที่ทรงศีลาจารวัตร เพราะด้วยอำนาจแห่งพุทธคุณและสมาธิจิตอันเกิดจากการบริกรรมพระคาถานี้.
ขอบคุณภาพและเนื้อหาจากเพจ วัดสุทัศนเทพวราราม
คาถาพระสุนทรีวาณี คาถาที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรม ควรภาวนาเป็นประจำ