ในรอบ 1 ปีมีวันสำคัญต่าง ๆ มากมาย ให้คุณได้จดจำช่วงเวลาดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันวาเลนไทน์ วันปีใหม่ วันสงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวันที่ดีด้วยกันทั้งสิ้น แต่ทุกคนน่าจะรู้กันดีแล้วว่า จะมีวันพิเศษแค่เพียงหนึ่งวันเท่านั้น ที่เราจะจำได้ไม่ลืม นั่นก็คือ “วันเกิด” ที่หลายคนต่างเฝ้ารอ และสิ่งสำคัญที่จะมาพร้อมกับวันเกิด นั่นก็คือ “เค้กวันเกิด” นั่นเอง ไม่ว่าคุณจะได้รับมาในรูปแบบไหนก็ตาม คุณย่อมมีความสุขและรู้สึกดีไม่ต่างกัน เพราะเค้กวันเกิดนั้นมีความหมายดี ๆ ซ่อนอยู่ ซึ่งวันนี้เราจะพามาหาคำตอบกัน ว่ามีอะไรที่แฝงไว้ในเค้กก้อนนั้นบ้าง
จุดกำเนิดของเค้กก้อนแรกของโลก
ถ้าจะบอกว่าเค้กเกิดมาจากความรักก็ไม่แปลก เพราะเค้กก้อนแรกที่คนเริ่มรู้จักกัน ราวศตวรรษที่ 17 ไม่ได้มาจากนักทำขนมที่เก่งที่สุด แต่มาจากนักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีชื่อ “อัลเฟรต เบิร์ด” ผู้มีใจรักภรรยาเป็นที่ตั้ง เพราะด้วยโรคภูมิแพ้ที่ภรรยาเป็นอยู่ ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารจำพวกไข่ หรือ ยีสต์ได้ ดังนั้นเขาจึงทุ่มเทคิดค้นสูตร ที่จะทำขนมปังโดยไม่ใช้ยีสต์ ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จ โดยการใช้ผงฟูในการผสมกับแป้งและน้ำ แล้วจะเกิดปฏิกิริยาเคมี ทำให้ขนมปังฟูขึ้นมาได้ ซึ่งต่อมาจึงเรียกผงฟูนี้ว่า “Baking Powder” ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำขนมปังและเค้ก ซึ่งสืบทอดสูตรเค้กมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการขนานนามเค้กว่า “kaka” ในภาษาไวกิ้ง ในช่วงแรกชาวยุโรปมักนิยมเค้กที่มาในรูปแบบของเค้กผลไม้ เพราะสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ต่อมาจึงมาการปรับเปลี่ยนให้หลากหลายรูปแบบขึ้น ตามยุคสมัยที่มีการพัฒนาวัตถุดิบใหม่ๆ ขึ้นมา และเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก จากการแผ่อาณานิคมของชาวตะวันตก ไปยังประเทศต่าง ๆ จึงทำให้เค้กเป็นที่รู้จัก และสืบทอดกันเรื่อยมา ในประเทศไทยเองก็ได้รับอิทธิพลไม่แพ้กัน ปัจจุบันเค้กจึงไม่ใช่สิ่งใหม่ที่หาได้ยากอีกต่อไป และกลายเป็นขนมสุดพิเศษในวันสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะวันแต่งงาน, จัดเลี้ยงสังสรรค์, ประชุมสัมมนา หรือแม้กระทั่งวันเกิดของคุณ!
เค้กวันเกิดเริ่มต้นมาได้อย่างไร? ทำไมถึงต้องมี!
การทำเค้กวันเกิด บางคนเชื่อว่ามาจากสมัยยุคกลาง (Middle Ages) ที่คนมักทำกันในวันที่เฉลิมฉลอง การบูชาเทพเจ้ากรีก ซึ่งนิยมทำขนมอบ ขนมปัง และขนมเค้กเพื่อไว้บูชาเทพเจ้า ส่วนที่เหลือจะนำมารับประทานกันในครอบครัว ส่วนใหญ่ความเชื่อของเค้กในยุคก่อน มักเกี่ยงพันกับพิธีกรรมทางศาสนา จะไม่นิยมทำเป็นของว่างตามปกติเช่นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากค่าใช้จ่ายในการทำด้วย เพราะคนในยุคก่อนจะมีระบบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งจะมีสิทธิมากกว่าชนชั้นไพร่หรือทาส ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลย ถ้าเราย้อนดูหนังประวัติศาสตร์ชาวยุโรป มักจะเห็นการจัดเลี้ยงที่มีเค้กวันเกิด เฉพาะในกลุ่มของชนชั้นสูงเท่านั้น เหล่าบรรดาไพร่หรือทาส อาจจะได้กินแค่ของเหลือจากเจ้านายเท่านั้น ซึ่งถ้าเราเกิดในสมัยนั้น อาจต้องอดกินเค้กก็เป็นได้
นอกจากนี้ ยังมีตำนานการบูชาเทพอาร์ธิมีสหรือเทพีแห่งจันทรา โดยทำขนมปังหวานผสมน้ำผึ้งหรือเค้กน้ำผึ้ง เพื่อบูชาเทพเจ้ากรีกองค์นี้ ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองตนเอง ซึ่งมีการทำเค้กลักษณะทรงกลมเป็นครั้งแรก และใช้เทียนที่มีลักษณะเปล่งประกายดุจดวงจันทร์ ปักลงตรงกลางเค้ก เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อแทนความเคารพศรัทธา ที่มีต่อองค์เทพีแห่งดวงจันทร์นั่นเอง ทำให้มีการปักเทียนลงบนเค้กเรื่อยมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง และบางคนยังเชื่ออีกว่าว่า แสงเทียนจะนำความรุ่งโรจน์ ให้เกิดกับชีวิตเจ้าของวันเกิดอีกด้วย ซึ่งในช่วงยุคแรก ๆ ยังไม่มีการเป่าเค้ก แต่จะทำการทำให้ดับโดยวิธีการต่าง ๆ แทน เช่น พัดให้ดับด้วยสิ่งของ, ใช้มือบีบตรงขั้วให้ดับ, เป่าให้ดับแบบไม่มีความหมายโดยใครก็ได้ เป็นต้น ซึ่งการเป่าเค้กโดยเจ้าของวันเกิดจะเริ่มมีในช่วงยุคหลัง ๆ นี้เอง เพราะการเป่าเค้ก จะเป็นเสมือนสัญญาณการเริ่มต้นงานวันเกิดนั้นเอง โดยเจ้าของวันเกิดจะอธิษฐานขอพร แล้วเป็นผู้เป่าเทียนทั้งหมดให้ดับ จากนั้นเค้กวันเกิดจึงจะถูกตัดแบ่ง แก่คนที่รักและแขกผู้มาร่วมงานทีละส่วน เป็นการมอบความรัก ส่งต่อด้วยเค้กให้กันอีกด้วย
เค้กวันเกิดสำคัญกับคุณมากแค่ไหน?
บางคนอาจคิดว่าวันเกิด ก็เป็นแค่อีกวันของชีวิต ที่ครบรอบและแก่ขึ้นอีกปี แต่สำหรับบางคนวันเกิดเป็นทั้งวันสำคัญของตัวเอง และเป็นวันสำคัญของคนที่รัก ดังนั้นเค้กวันเกิดจึงเหมือนสื่อแห่งความรัก ที่มอบให้แก่กันในวันสำคัญ ดังนั้นเค้กวันเกิดจึงไม่มีวันที่จะลดความนิยมลงไปได้ ถ้าคุณไม่อยากเอ่ยคำว่ารักหรือความรู้สึกดี ๆ ให้ใครสักคน คุณก็สามารถส่งเค้กไปให้แทนใจได้ โดยที่คุณไม่ต้องกลัวว่าจะเขินอาย และยังอาจได้รักกลับมา เป็นของขวัญอันแสนวิเศษอีกด้วย ขอให้เค้กวันเกิดเป็นเค้กที่จะนำเรื่องราวดี ๆ มาสู่คุณและคนรอบข้าง เหมือนกับจุดกำเนิดของเค้กวันเกิด ที่เริ่มต้นมาจากความรักนั่นเอง