
บุญผะเหวดเป็นประเพณีการทำบุญตามความเชื่อของชาวอีสาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและการได้ไปเกิดในภพชาติเดียวกับพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ แต่อย่างน้อยการทำบุญผะเหวด ได้ช่วยจรรโลงความเป็นไทยอีสานตามฮีตสิบสองของชาวอีสานไว้ แล้วความน่าสนใจของบุญผะเหวดจะมีอะไรบ้าง ตามไปดูประวัติความเป็นมา และความสำคัญของประเพณีงานนี้พร้อมๆ กันเลย
ความหมายของของคำว่าบุญผะเหวด
คำว่าบุญผะเหวด เป็นคำที่ออกเสียงตามเสียงและสำเนียงของภาษาอีสาน ซึ่งจริงๆ แล้วมาจากคำว่าพระเวส หมายถึงพระเวสสันดร ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า โดยบุญผะเหวดนี้เป็นอีกหนึ่งประเพณีในทั้งหมดสิบสองเดือน สิบสองประเพณีของชาวอีสานหรือที่เรียกว่าฮีตสิบสองนั่นเอง โดยบุญผะเหวดจะจัดขึ้นในเดือนสี่ ตามการนับปฏิทินแบบโบราณ นั่นคือประมาณเสาร์อาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี
ความสำคัญของบุญผะเหวดต่อสังคมอีสาน
การทำบุญผะเหวดนั้น มีความสำคัญทั้งทางจิตใจ และมีผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวอีสาน โดยชาวอีสานจะมีการจัดประเพณีนี้ขึ้นมาทุกปี เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการจัดงานมหากุศล และรำลึกถึงการบำเพ็ญบุญอันยิ่งใหญ่ในชีวิต อีกทั้งเพื่อให้เห็นถึงหลักธรรม การไม่เห็นแก่ตัวและความเสียสละ เหมือนในการเทศน์มหาชาติที่กล่าวถึงความเสียสละและบริจาคทานอันยิ่งใหญ่ของพระเวสสันดร แม้กระทั่งลูกของตัวเองยังบริจาคได้เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น
บุญผะเหวดกับชีวิตความเป็นอยู่
การได้ฟังเทศน์มหาชาติในบุญผะเหวดนั้น หากฟังตั้งแต่ต้นกระทั่งจบจะทำให้ซาบซึ้ง และรู้ถึงความเสียสละของพระเวสสันดร อีกทั้งเกิดความซาบซึ้งต่อพระพุทธศาสนา ส่งผลให้มีการประพฤติตนอยู่ในทางที่ดีงาม และใช้ชีวิตในสังคมแบบไม่เห็นแก่ตัว สร้างความรักความสามัคคีขึ้นในสังคมชาวอีสาน ฉะนั้นจึงได้มีการสืบทอดการทำบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติขึ้นในหมู่บ้านชาวอีสาน เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมทั้งสร้างคุณค่าทางจิตใจ และเป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนในการประพฤติปฏิบัติตนด้วย
การเทศน์มหาชาติในบุญผะเหวด
บุญผะเหวดจะมีการฟังเทศน์มหาชาติ ซึ่งในการเทศน์มหาชาตินั้นจะมีทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานเชื่อว่าหากได้มีโอกาสฟังเทศน์มหาชาติ ตั้งแต่กัณฑ์แรกถึงกัณฑ์สุดท้ายจบภายในวันเดียวจะได้บุญใหญ่ ทำให้ได้มีโอกาสไปเกิดในภพชาติเดียวกับพระอริยเมตไตรย ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปหลังจากหมดยุคของพระพุทธเจ้าสมณโคดมนี้แล้ว
ประเพณีที่ปฏิบัติในการจัดบุญผะเหวด
ประเพณีที่สำคัญในเดือนสี่ ที่เรียกว่าบุญผะเหวดนี้ ชาวบ้านทางภาคอีสานจะให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการทำบุญตามฮีตสิบสองแล้ว ยังถือว่าเป็นโอกาสการทำบุญและบริจาคทานอันยิ่งใหญ่ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันมาเตรียมงาน โดยมีทั้งการร้อยพวงมาลัยด้วยดอกไม้ และหาต้นหม่อนมาทำเป็นดอกไม้แห้งเรียกว่าดอกโน เพื่อประดับศาลาการเปรียญสำหรับการจัดงาน ก่อนจะถึงวันบุญผะเหวดและเทศน์มหาชาติ ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาแบบนี้เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว
การจัดงานบุญผะเหวดในวันบีบข้าวปุ้น
วันแรกของงานเป็นการจัดเตรียมหาอาหารและของกินเตรียมไว้ ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ข้าวปุ้นหรือขนมจีน รวมทั้งจะมีการห่อขนม ห่อข้าวต้มมัด ขนมหวานต่างๆ เพื่อเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนวันงาน สำหรับการต้อนรับญาติสนิทมิตรสหายที่มาจากต่างหมูบ้าน รวมถึงในวันแรกนี้จะมีการจัดทำหออุปคุต และมีการแห่พระอุปคุตที่สมมติว่า นำมาจากสะดือทะเลไปรอบหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านสักการะบูชา จากนั้นจึงนำไปไว้บนหออุปคุตในบริเวณงานบนศาลาการเปรียญ
ซึ่งความเชื่อของคนอีสานเชื่อว่าพระอุปคุตนั้น เป็นพระเกจิที่มีฤทธิ์มากสามารถเนรมิตกุฏิอยู่กลางมหาสมุทรได้ อีกทั้งยังช่วยขจัดสิ่งชั่วร้าย เภทภัยอันตรายทั้งหลายให้หมดไป ยิ่งกว่านั้นถือว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ แก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติอีกด้วย

ประเพณีบุญผะเหวดในวันโฮม
วันที่ 2 ของงานบุญผะเหวดจะถือว่าเป็นวันรวมหรือทางอีสานเรียกว่าวันโฮม เพราะถือว่าเป็นวันที่ญาติพี่น้องที่รู้ข่าวการทำบุญ จะมาร่วมทำบุญด้วยการนำข้าวสาร อาหารแห้ง มาร่วมสมทบทำบุญ อีกทั้งร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน เมื่อรับประทานเสร็จก็จะมีการนำอาหารไปฝากญาติพี่น้องคนอื่นๆ ด้วย นอกจากนั้น ในวันโฮมนี้จะถือว่าเป็นวันแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองซึ่งคนในหมู่บ้านจะมาร่วมเพื่อแห่ผ้าผะเหวดมีทั้งหมด 13 กัณฑ์เข้าไปยังศาลาการเปรียญบริเวณจัดงาน และใช้เป็นที่สำหรับเทศน์มหาชาติด้วย
การแห่กัณฑ์หลอนในวันที่ 3 ของบุญผะเหวด
การจัดงานบุญผะเหวดในวันที่ 3 นี้ จะมีการแห่กัณฑ์หลอน ซึ่งคำว่าหลอนในภาษาอีสานนั้นหมายถึง การแอบมาหา หรือลักลอบไปหาโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า กัณฑ์หลอนเป็นกัณฑ์เทศน์พิเศษ นอกเหนือจากเงินกัณฑ์เทศน์ ที่จะถวายให้พระภิกษุสงฆ์ในการเทศน์ ซึ่งกัณฑ์หลอนนี้จะถวายพิเศษจากกัณฑ์เทศน์ทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งมีเจ้าภาพถวายอยู่แล้ว แต่กัณฑ์หลอนนี้จะไม่มีเจ้าภาพจองไว้ก่อน แต่เป็นการจัดทำของชาวบ้านในแต่ละคุ้ม เพื่อหาปัจจัยและไทยธรรมต่างๆ ตามกำลังศรัทธาแล้วนำไปถวายเพิ่มเติมให้กับพระภิกษุสงฆ์
การนำกัณฑ์หลอนไปถวายแต่พระภิกษุสงฆ์
เมื่อชาวบ้านได้รวบรวมปัจจัยต่างๆ เพียงพอและเหมาะสมกับเวลาแล้ว จะมีการแห่ต้นกัณฑ์หลอนนั้นไปถวายพระภิกษุสงฆ์รูปที่กำลังเทศน์อยู่บนศาลาการเปรียญ โดยกัณฑ์หลอนนี้ชาวบ้านสามารถแห่ไปถวายพระได้ทั้งวัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมเวลาไหนของแต่ละคุ้มหรือจะเป็นกัณฑ์หลอนที่มาจากหมู่บ้านใกล้เคียงด้วยก็ได้ ทำให้เกิดความรักสามัคคีของคนในหมู่บ้านเดียวกันและหมู่บ้านใกล้เคียงให้เกิดขึ้น
การจัดงานบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติขึ้นในเดือน 4 ของทุกปีของชาวอีสาน นับว่าเป็นประเพณีอันดีงามอย่างหนึ่งในบุญทั้ง 12 เดือน ซึ่งบุญผะเหวดถือเป็นบุญที่จะได้ทำทานและเสียสละ รวมทั้งกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียวให้หมดไปด้วย นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพบุรุษที่สืบทอดมายังชนรุ่นหลัง ช่วยสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นในจิตใจ และสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ที่มาของภาพ : https://cac.kku.ac.th/heet12_kong14/phawed.html
บทความแนะนำ…ประเพณีการแห่ข้าวพันก้อนเพื่อบูชาคุณพระพุทธศาสนา