ผมเห็นแชร์กันเยอะเกี่ยวกับคาถาบูชาเมีย ก็คัดลอกกันไปมา ผมเองก็ไม่รู้ว่าต้นฉบับจากใคร โพสต์ไว้ที่ไหนเป็นแห่งแรกหรือคนแรก ผมเองแอดมิน ก็ขออนุญาตคัดลอกต่อ
คาถาบูชาเมีย ฉบับคัดลอก
รักเมียต้องอดทน ต้องเป็นคนเคารพเมีย
รักเมียต้องส่งเสีย อย่าให้เมียต้องสงสัย
รักเมียรักคนเดียว อย่าได้เที่ยวไปรักใคร
รักเมียต้องทำใจเพราะยังไงๆเขาก็คือ”เมีย”
รักเมียอย่าขี้เหล้า ถ้าเมียเหงาเราจะเสีย
รักเมียอย่าอ่อนเพลีย คนรักเมียต้องแข็งแรง
รักเมียอย่าเที่ยวดึก มันจะคึกผิดสำแดง
รักเมียอย่ารุนแรง ค่อยๆแซงอย่าขับไว
รักเมียต้องยอมเมีย เพราะว่าเมียไม่ยอมใคร
รักเมียต้องเข้าใจ ไม่มีใครใหญ่กว่าเมีย
รักเมียอย่าเถียงเมีย คำพูดเมียใหญ่กว่าใคร
ชาติหน้า เกิดฉันใด จงจำใว้อย่ามีเมีย!!
พูดถึงเรื่องเมีย ๆ ผัว ๆ หรือเรียกให้เพราะว่า สามี ภรรยา ในทางพระพุทธศาสนาก็คำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนกัน ซึ่งปรากฎในสิงคาลกสูตร เรื่องโดยย่อมีอยู่ว่า
สิงคาลกสูตร ย่อ
ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ทรงเห็นสิงคาลกมานพ ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วไหว้ทิศต่าง ๆ มีทิศเบื้องหน้า หลัง ซ้าย ขวา บน และทิศเบื้องล่าง ตามคำสั่งของบิดาที่ได้สิ้นไปแล้ว พระศาสดาจึงตรัสว่า “ในอริยวินัยไม่พึงไหว้ทิศแบบนี้” เมื่อเขากราบทูลถามว่า พึงไหว้อย่างไร จึงตรัสว่า “อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์” จากนั้นทรงแสดงธรรมเป็นลำดับโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อธรรมต่างๆ ที่ทรงตรัสมา……
บทความนี้ผมขอข้ามไปที่ ….พระผู้มีพระภาคทรงตรัสถึงทิศ ๖ คือ บุคคล ๖ ประเภท ตามนิยามของอริยสาวก คือ ทิศเบื้องหน้า ได้แก่มารดาบิดา ๒. ทิศเบื้องขวา ได้แก่อาจารย์ ๓. ทิศเบื้องหลัง ได้แก่บุตรภรรยา ๔. ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่มิตรอำมาตย์ ๕. ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ทาส กรรมกร ๖. ทิศเบื้องบน ได้แก่สมณพราหมณ์ และวิธีการปฏิบัติต่อบุคคลซึ่งเปรียบเสมือนทิศทั้ง ๖ บทความนี้ผมจะพูดถึงเฉพาะ ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง ภรรยา
ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง ภรรยา สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
( ๑ ) ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา.
( ๒ ) ด้วยไม่ดูหมิ่น.
( ๓ ) ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ.
( ๔ ) ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้.
( ๕ ) ด้วยให้เครื่องแต่งตัว.
เปรียบเทียบคาถาบูชาเมีย กับหลักปัจฉิมทิส ในสิงคาลกสูตร
ผมจะนำคาถาบูชาเมียมาเปรียบเทียบกับหน้าที่ของสามีที่พึงปฏิบัติต่อภรรยาว่าเข้ากันหรือไม่
รักเมียต้องอดทน ต้องเป็นคนเคารพเมีย ข้อนี้น่าจะเข้าได้กับข้อที่ว่า ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา. ไม่ดูหมิ่น ไม่ประพฤติล่วงใจ
รักเมียต้องส่งเสีย อย่าให้เมียต้องสงสัย ข้อนี้น่าจะเข้ากับคำว่า ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว. ไม่ประพฤติล่วงใจ
รักเมียรักคนเดียว อย่าได้เที่ยวไปรักใคร ข้อนี้น่าจะเข้ากับข้อที่ว่า ไม่ประพฤติล่วงใจ
รักเมียต้องทำใจเพราะยังไง ๆ เขาก็คือ”เมีย” ข้อนี้เข้าไดักับทุกข้อ
รักเมียอย่าขี้เหล้า ถ้าเมียเหงาเราจะเสีย ข้อนี้น่าจะเข้าได้กับข้อที่ว่า ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา. ด้วยไม่ดูหมิ่น. ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ.
รักเมียอย่าอ่อนเพลีย คนรักเมียต้องแข็งแรง ข้อนี้ก็ปัดเสียว่าเข้ากับทุกข้อ ถ้าสุขภาพแข็งแรงก็สิ่งเสริมได้ทุกด้าน
รักเมียอย่าเที่ยวดึก มันจะคึกผิดสำแดง ข้อนี้เข้าได้กับข้อที่ว่า ไม่ประพฤติล่วงใจ. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
รักเมียอย่ารุนแรง ค่อยๆแซงอย่าขับไว ข้อนี้เข้าได้กับข้อที่ว่า ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา.
รักเมียต้องยอมเมีย เพราะว่าเมียไม่ยอมใคร ข้อนี้เข้าได้กับข้อที่ว่า ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้.
รักเมียต้องเข้าใจ ไม่มีใครใหญ่กว่าเมีย ข้อนี้เข้าได้กับข้อที่ว่า ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้.
รักเมียอย่าเถียงเมีย คำพูดเมียใหญ่กว่าใคร ข้อนี้เข้าไดักับคำว่า ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา. ด้วยไม่ดูหมิ่น. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้.
ชาติหน้า เกิดฉันใด จงจำใว้อย่ามีเมีย!! ข้อนี้กล่าวถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่เข้ากับหลักปฏิบัติข้อไหน แม้แต่ในตัวคาถาบูชาเมียเอง
ข้อปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖ ที่ปรากฎในสิงคาลกสูตรนี้ ปราชญ์ด้านพุทธศาสนา แสดงความเห็นว่า “พระสูตรนี้ชาวยุโรปเลื่อมใสกันมากว่าจะแก้ปัญหาสังคมได้ เพราะเสนอหลักทิศ ๖ อันแสดงว่าบุคคลทุกประเภทในสังคมควรปฏิบัติต่อกันในทางที่ดีงาม ไม่มีการกดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคต่อกัน ผมแสดงหน้าที่ของภรรยาที่ปรากฎในสิงคาลกสูตรต่อ
ภรรยาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕
( ๑ ) จัดการงานดี.
( ๒ ) สงเคราะห์คนข้างเคียงของผัวดี.
( ๓ ) ไม่ประพฤติล่วงใจผัว.
( ๔ ) รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้ไว้.
( ๕ ) ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง.