
ปาฐะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงความวิเศษแห้งขุมทรัพย์คือบุญ หรือว่าด้วยการสะสมบุญอันถือเป็นขุมทรัพย์ที่นำติดตนไปได้ มีใจความโดยสรุปดังนี้
บุคคลฝังขุมทรัพย์ไว้ในที่ต่างๆ ด้วยความตั้งใจว่า จะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ที่ฝังไว้นั้น เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น แต่ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้นั้น อาจเกิดอันตรายขึ้นจากสาเหตุต่างๆ เช่นไฟไหม้ โจรปล้น ถูกน้ำท่วมพัดพาไปบ้าง ฝังไว้แล้วลืมเสียบ้าง ลูกหลานขโมยไปใช้บ้าง ที่สำคัญคือเมื่อเขาตายไปทรัพย์ที่ฝังไว้นั้น ย่อมพินาสไปจากเขา แต่ขุมทรัพย์คือบุญย่อมปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ เหล่านั้น
ขุมทรัพย์ คือบุญที่ชายหญิงได้ฝังไว้ด้วยการให้ทาน รักษาศีล ความสำรวมและการฝึกฝนตน เป็นต้น ฝากไว้ในเจดีย์ ในสงฆ์ ในแขกผู้มาเยือน ในพ่อแม่ ในพี่น้อง ขุมทรัพย์เหล่านั้นได้ชื่อว่า ฝังไว้ดีแล้ว เพราะเป็นขุมทรัพย์ที่ใครๆ ไม่อาจจะทำลายได้ เมื่อเขาตายไปก็นำขุมทรัพย์คือบุญไปได้ด้วย ขุมทรัพย์คือบุญนี้ เป็นของเฉพาะตัว ติดตามตนไปได้ทุกภพชาติ ไม่เป็นสาธารณะแก่คนอื่น
นักปราชญ์พึงทำ บุญนิธิ อันสามารถติดตามตนไปได้ ย่อมให้ผลที่น่าปรารถนา อาจให้สมบัติที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายต้องการ ผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคน เช่น ผิวพรรณงาม เสียงไพเราะ ทรวดทรงดี มีรูปสวย มีความเป็นใหญ่ มีบริวารมาก ความเป็นพระราชา พระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก เป็นต้น และสวรรคสมบัติ คือการเกิดเป็นราชาแห่งเทวดาทั้งหลาย และโลกุตตรสมบัติ อันได้แก่ สาวกบารมีญาณ ปฏิสัมภิทา ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิ นิพพานสมบัติ
การที่พระโยคาวจร อาศัยความสมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตร ประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ มีความชำนาญในวิชชาและวิมุติ ปฏิปสัมภิทา วิโมกข์ ผลอันบุคคลปรารถนาทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมได้เพราะด้วยบุญนิธินี้ คุณที่สร้างความสมบูรณ์คือบุญนี้ เมื่อมีประโยชน์มากมายอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญา จึงสรรเสริญความเป็นผู้มีบุญ อันได้กระทำไว้แล้ว
ข้อควรศึกษาในปาฐะนี้คือ ในพระคาถาเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภ
คำกล่าวของกฎุมภีชาวเมืองสาวัตถี ทรงมีพระพุทธประสงค์จะเรียกการทำบุญว่า
เป็น “การฝังทรัพย์โดยปรมัตถ์”
นิธิ คือขุมทรัพย์อันบุคคลฝังไว้ เก็บรักษาไว้ คุ้มครองไว้ มีลักษณะ ๔ ประเภท
๑. ถาวโร เป็นขุมทรัพย์ที่ถาวร ได้แก่ สังหาและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
๒. ชังฆโม เป็นขุมทรัพย์ที่มาด้วยแข้ง ได้อาศัยแข้งขาของสัตว์ แรงงานบุคคล
๓. อังคโม ขุมทรัพย์จากอวัยวะ ศิลปวิทยา ที่ฝึกฝนร่ำเรียนมา
ได้จากการทำหน้าที่หรือการงาน
๔. อันคามิโน คือขุมทรัพย์ที่ติดตามตนมา และติดตามตนไป หมายถึงการ
บำเพ็ญบุญกุศล อริยทรัพย์ ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เป็นต้น
ทรงชี้หลักธรรมเพียง ๔ ประการ คือ การทำทาน การรักษาศีล การสำรวมระวัง และการฝึกตน อันบุคคลประพฤติตน กระทำให้เหมาะสมต่อพระเจดีย์ ต่อสงฆ์ ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประเภทต่างๆ ดังกล่าวแล้วว่า เป็นบุญนิธิที่สามารถติดตามตนไปได้ ( จากหน้า ๒๔ หนังสือพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เล่ม ๑ พระเทพดิลก พิมพ์ครั้งที่ ๒ มหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๕๔๓
ทรัพย์สาธารณะ
ครั้งหนึ่งมหาอำมาตย์ได้เช้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า “เป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างที่ไม่เคยทราบมาก่อน คือ มิคาร เศรษฐีเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากมาย” ทรงตรัสย้อนถามว่า มีมากเพียงใด ทูลตอบว่า “แค่ทองก็มีถึงแสนลิ่มแล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงเงิน” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“ทรัพย์ดังที่กล่าวมานั้นมีอยู่ เรามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่ทรัพย์ที่ว่านั้นเป็นของสาธารณะแก่ไฟ แก่น้ำ แก่โจร ถูกริบเข้าหลวง ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก แก่การฉ้อโกงเอาไปได้ ยังมีทรัพย์ที่ประเสริฐที่ไม่เป็นสาธารณะแก่ไฟ แก่น้ำ แก่โจร ไม่ถูกริบเข้าหลวง และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก (เป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดสามารถแย่งไปได้) อยู่ ๗ ประการ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ (การได้ยินได้ฟังมามาก) จาคะ และปัญญา” ยกเว้น หิริ-โอตตัปปะ พาหุสัจจะ ที่เหลือคือ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เป็นประโยชน์ภพหน้าชาติหน้า
ถ้ารู้เหมือนพระองค์รู้แล้วจะ…
ทรงแสดงว่า ถ้าสัตว์ทั้งหลายรู้ผลแห่งการจำแนกแจกทานอย่างที่พระองค์รู้แล้ว เมื่อยังไม่ให้ทานก็จะไม่บริโภค ความตระหนี่ก็จะครอบจิตไม่ได้ ถ้ามีผู้รับทานแล้ว จะต้องแบ่งคำข้าวแม้จะเป็นคำสุดท้ายให้ทานก่อนแล้วจึงบริโภค แต่เพราะไม่รู้อย่างนั้นจึงบริโภคโดยไม่ได้ให้ทาน ความตระหนี่อันเป็นมลทินจึงสามารถครอบจิตใจของสัตว์เหล่านั้นไว้ได้.