หลวงปู่เมฆ สจฺจาสโภ วัดลำกระดาน ถนนนิมิตใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร นามเดิมของท่านคือ เมฆ สิทธิราชา ท่านเกิดในยุครัชสมัยที่ 5 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2449 ในพื้นที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อายุครบ 15 ปี ในเมื่อปี พ.ศ. 2464 ที่วัดทัศนารุณสุนทริการาม (วัดตะพาน) แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี และได้ทำการบวชเป็นพระเมื่ออายุครบอุปสมบท ในขณะที่บวชท่านก็ได้ศึกษาวิชาการต่าง ๆ พระในสมัยนั้นศึกษากัน ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน รวมคาถาอาคมต่าง ๆ อีกด้วย จากนั้นเมื่อท่านอายุได้ 25 ปี ซึ่งตรงกับปี 2474 นับเป็นเวลา 10 ปีที่ท่านได้บวชมา (รวมทั้งบวชเป็นสามเณรด้วย) ท่านจึงได้สึกออกมาใช้ชีวิตแบบฆราวาส ถึงกระนั้นท่านก็ใฝ่ในการเรียนรู้วิชาอาคมต่าง ๆ และได้เดินทางศึกษาจากพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นหลายรูป
ท่านได้กลับมาอุปสมบทอีกครั้ง เมื่ออายุได้ 62 ปี ตรงกับปี 2512 ที่วัดนังคัลจันตรีหรือวัดคลอง 7 ต.ลำลูกกา อ.ล่าลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งมีพระครูพิทักษ์ธัญสาร (หลวงพ่อตุ่ย) วัดนังคัลจันตรีเป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อชิด วัดแจ้งล่าหิน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวดรูปที่ 1) พระครูสุวรรณพัฒนกิจ (หลวงพ่อทอง สจฺจวโร) วัดลำกะดาน เป็น พระอนุสาวนาจารย์ (พระคู่สวดรูปที่ 2) เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้รับฉายาว่า สจฺจาสโภ และได้มาจำพรรษาที่วัดลำกระดานเรื่อยมา
หลวงปู่เมฆ สจฺจาสโภ ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2534 เวลา 06.45 น. รวมสิริอายุได้ 85 ปี ปัจจุบันสังขารของท่านได้ถูกบรรจุไว้ในโลงแก้วที่วัดลำกระดาน ถนนนิมิตใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
ปลัดขิก หลวงปู่เมฆ วัดลำกระดาน
ผมไม่ทราบแน่ชัดว่าวัตถุมงคลอย่างอื่นของหลวงปู่เมฆนั้นมีอะไรบ้าง แต่ที่ผมทราบมา และผมเชื่อว่าหลายคนคงจะทราบเป็นอย่างดี นั่นคือปลัดขิก
ปลัดขิกหลวงปู่เมฆนั้นจะทำด้วยไม้เขยตาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์ชนิดหนึ่ง เหมือนอย่างพวกไผ่ตัน หรือเชื่อว่าเป็นไม้ให้คุณอย่างหนึ่งอย่างไม้คูนเป็นต้น นอกจากนั้นทราบว่าไม้เขยตายยังมีสรรพคุณด้านรักษาพิษงู พิษแมลงสัตว์กัดต่อย หรืออาการปวดต่าง ๆ แม้แต่ปวดประจำเดือน
ที่ใต้ถุนกุฏิของหลวงปู่เมฆจะมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมาช่วยกันเหลาไม้เขยตายไว้ทำปลัดขิก ลักษณะปลัดขิกของท่านนั้นจะไม่ค่อยสวยงามการแกะก็แบบง่าย ๆ งานออกหยาบ ๆ หน่อยไม่มีการลงอักขระใด ๆ ลงบนปลัดขิก ซึ่งท่านได้ให้เหตุผลว่าการลงอักขระที่กระจู๋เป็นการไม่สมควร
ปลัดขิกของหลวงปู่เมฆนั้น ตามที่กล่าวข้างต้น จะมีชาวบ้านมาช่วยกันทำหลายคน ฉะนั้น จึงมีหลายฝีมือ มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดจิ๋วเท่าเหรียญบาทหรือเล็กกว่า จนถึงขนาดใหญ่หลายนิ้วก็มี ทั้งทั้งแบบใช้มีดเหลาทำ (เข้าใจว่าน่าจะเป็นยุคต้น แต่อย่างไรก็ตามการใช่มีดเหลานั้น ผมเชื่อว่ามีทุกยุคแน่นอน) และปลัดขิกแบบใช้เครื่องเจียทำก็มี (เข้าใจว่าน่าจะเริ่มใช้ในยุคหลัง แต่ก็ทันหลวงปู่นะครับ)
เหตุที่หลวงปู่เมฆท่านสร้างปลัดขิกแจกนั้น เนื่องจากบริเวณนั้นมีงูชุม ชาวบ้านถูกงูกัดบ่อย บางครั้งเมื่อถูกงูกัดแล้วยากลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล หายาสมุนไพรมารักษาก็ไม่ทันเวลากว่าจะหาเจอ ท่านจึงได้ใช้ไม้ที่มีสรรพคุณในการรักษาพิษงูอย่างไม้เขยตายมาทำเป็นปลัดขิกแล้วทำการเสกด้วยคาถาอาคมแล้วแจกจ่ายให้ชาวบ้านพกติดตัว ซึ่งกลายเป็นของขลังที่มีสรรพคุณทั้งกันและแก้อยู่ในตัว คือกันงู กันสัตว์มีพิษ แต่หากใครถูกงูกัด (คนที่ไม่ได้พกปลัดขิกหรืออาจจะเป็นเพราะกรรมเก่าที่ต้องเจ็บเพราะงู) ก็ให้คนที่มีปลัดขิกของหลวงปู่เมฆนี้ ฝนปลัดขิกทาแผลหรือดื่มกินเข้าไป บรรเทาความเจ็บปวดหากไม่หนักเกินไปก็จะทำให้หายได้ แต่อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ หากถูกงูกัดควรได้ไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาด้วย ในสมัยนั้น หากมีใครมาขอปลัดขิกท่านก็ให้ไปเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
พุทธคุณ ปลัดขิก หลวงปู่เมฆ
- ป้องกันสัตว์มีพิษทั้งหลาย มีงู ตะขาบ เป็นต้น
- รักษาเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัด โดยใช้ปลัดขิกจิ้มตรงแผล หรือถ้าให้ดีควรฝนทาและดื่ม หรือเคี้ยวปลัดขิกบ้วนใส่แผล และกลืนกินด้วย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อถูกงูที่มีพิษร้ายแรงกัดควรรีบไปหาหมอทันที
- รักษาอาการเจ็บปวดอย่างอื่น ตามวิธีข้างต้น (เป็นความเชื่อ ในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางไปพบหมอได้)
- แคล้วคลาดปลอดภัย
- เมตตามหานิยม ค้าขายดี
ประสบการณ์ ปลัดขิก หลวงปู่เมฆ
ประสบการณ์ของปลัดขิก หลวงปู่เมฆนี้ ผมก็คัดลอกเขามาเล่าอีกทีนะครับ ซึ่งมีเยอะมาก ๆ เป็นต้นว่า
- มีเรื่องเล่าในท้องถิ่น (คงจะสมัยนั้นนะ) เด็ก ๆ ที่มีปลัดขิกของหลวงปู่เมฆจะไม่กลัวงูเห่ากัน บางคนใช้ไม้เขี่ยเล่นก็มี เห็นงูเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องเล่า หากเด็ก ๆ หรือใคร ๆ ได้อ่านแล้ว แม้ท่านจะมีปลัดขิกหลวงปู่เมฆแล้วก็ตาม ไม่ควรที่จะเข้าใกล้สัตว์มีพิษหากท่านไม่มีความรู้หรือความชำนาญในการจับ (ไม่ประมาทดีที่สุด)
- มีลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งถูกลอบยิงขณะกำลังขี่รถมอเตอร์ไซต์ ปรากฏว่ายิงไม่ออก แต่กระนั้นรถมอเตอร์ไซด์ก็ได้ล้มลง ผู้ขี่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ผมเอาข้อความเขามาเล่าต่อ ผมก็งงอยู่ว่ารถลงได้อย่างไร ในเมื่อยิงไม่ออก)
- มีหญิงสาวคนหนึ่งมีปลัดขิกของท่านติดตัว ได้ถูกคนร้ายดักหวังข่มขืนในซอยเปลี่ยวในเวลากลางคืน เธอพยายามขัดขืนเต็มที่ แต่เมื่อจวนตัวเห็นว่าไม่มีคนมาช่วยแล้วหญิงสาวคนนั้นได้นึกถึงหลวงปู่ขอให้คุ้มครอง ปรากฏว่าเมื่อถอดเสื้อผ้าออกมาโจรมันกลับเห็นเธอเป็นผู้ชาย จึงตกใจวิ่งหนีไป
- พ่อค้าแม่ค้าร้านค้าแถวนั้น มักจะชวนกันมาขอบูชาปลัดขิกของหลวงปู่ไว้ประจำร้านค้า ใส่กระปุกเงิน ต่างก็บอกต่อ ๆ กันไปว่า ทำให้ค้าขายดี
อมตะวาจา หลวงปู่เมฆ
“ถ้าจะนึกถึงกูให้จุดธูป 5 ดอก ถ้าจะบนให้จุดธูป 9 ดอก แค่มึงนึกถึงกู เรียก “ปู่” ก็จะสำเร็จ รูปของกู ของ ๆ กูไม่ต้องเสกไม่ต้องทำก็สำเร็จแล้ว”
คาถาบูชาหลวงปู่เมฆ
หากทำการบูชาหลวงปู่เมฆ วัดลำกระดานเป็นการเฉพาะ ท่านว่าให้จุดธูป 5 ดอก แต่หากจะบนบานขอพรให้จุดธูป 9 ดอก ตั้ง นะโม 3 จบ สวดคำบูชา
อิติ สุคะโต อะระหัง เมโฆ สัจจาสะโภ นามะเต ปะสิทธิเม
เอหิ อะโห นะโมพุทธายะ พุทธะสังมิ นะชาลีติ
อุอากะสะ มิเตพาหุหะติ อะหังวันทามิ สัพพะทา สัพพะลาภัง ปะสิทธิ เม
แต่นั้น ทำการอธิษฐานขอพรจากหลวงปู่เมฆ
คาถาบูชาปลัดขิกหลวงปู่เมฆ / คาถาปลุกปลัดขิกหลวงปู่เมฆ
คาถานี้ออกแนวคำโบราณ พื้น ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับพระรัตนตรัยเลย ใช้ปลุกหรือใช้สวดกำกับปลัดขิกโดยเฉพาะ สำหรับคาถานี้ เป็นคาถาที่คัดลอกกันมาตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เผยแพร่ว่าเป็นคาถาปลุกปลัดขิกหลวงปู่เมฆ ผมเองก็ไม่ทราบว่าหลวงปู่เมฆท่านได้ให้ไว้หรือเปล่า แต่ก็เป็นไปได้ที่จะใช้กับปลัดขิกของท่านได้ เพราะหลวงปู่เมฆท่านกล่าวว่า การลงอักขระที่กระจู๋เป็นการไม่สมควร ฉะนั้น คาถาปลัดขิกของท่านจึงน่าจะเป็นคำโบราณท้องถิ่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระรัตนตรัย
โอม มะ กะดอ กอ ข้อ ขอ งอ ออ จอ hee ยอ อากาคะงะ คะอัง ฤ ฤา สวาหะ สวาโหม
โอม มะ หัวดอ hee หัวร่อ งอ หาย สัมปะติจฉามิ
ทำไมถึงเรียกว่า ไม้เขยตาย
เป็นเกร็ดความรู้ ทำไมถึงเรียกว่าไม้เขยตาย บางแห่งก็เรียกว่า ไม้เขยตายแม่ยายชักปรก, ไม้ลูกเขยตาย, ไม้ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ, ไม้ลูกเขยตายแม่ยายชักราก เหตุที่เรียกไม้เขยตาย มีเรื่องเล่าที่เป็นตำนานว่า แม่ยายกับลูกเขยไปทำไร่บนภูเขาทุกวัน วันหนึ่งขณะเดินทางกลับลูกเขยได้ถูกงูกัดสลบไป แม่ยายไม่รู้จะทำอย่างไรจึงได้ตัดกิ่งไม้สดชนิดหนึ่งคลุมไว้ จากนั้นแม่ยายก็เข้าไปหมู่บ้านเพื่อเรียกญาติ ๆ และผู้คนมาช่วยกัน แต่พอมาถึงปรากฏว่าลูกเขยฟื้นแล้ว จึงเชื่อว่าไม้ชนิดนี้มีสรรพคุณในการขับพิษ แก้พิษงู และเรียกไม้ชนิดนี้ว่า ไม้เขยตายเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ (น่าจะเรียกว่าไม้เขยไม่ตายหรือไม่เขยฟื้นนะ)