ก่อนอื่นผมต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่า ผมเองไม่ได้ติดตามข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้สาว “ลัลลาเบล” อย่างต่อเนื่อง ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ผมติดตามไม่ถึง 50 % ด้วยซ้ำ แต่ทราบว่า สำนักข่าวต่าง ๆ เสนอข่าวการเสียชีวิตของ “ลัลลาเบล” อย่างต่อเนื่อง จนกลบข่าวอื่น ๆ แม้กระทั่งข่าวน้ำท่วมที่อุบลราชธานี ที่ทราบเพราะมีการแชร์ข่าว ลัลลาเบล เป็นอย่างมากใน Facebook ครับ ตอนหลัง ๆ 2-3 วันมานี้ผมแทบไม่ได้คลิกดูครับ
ข่าวการเสียชีวิตของ “ลัลลาเบล” ให้อะไรกับสังคมไทยบ้าง
ก่อนที่จะเขียนเนื้อหาต่อไป ผมต้องขอแสดงความเสียใจต่อผู้ครอบครัวคุณ ลัลลาเบล ด้วยครับ ขอให้คุณ ลัลลาเบล จงไปสู่สุคติภพที่ดี การเสียชีวิตของพริตตี้ ลัลลาเบล ถ้านำมาเป็นข้อคิดคติเตือนใจสังคมไทยก็มีอยู่หลายอย่างเช่นกัน เป็นต้นว่า
- เห็นความเสื่อมของสังคม จริงอยู่ คนในสังคมมันเสื่อมมานานแล้ว จนกลายเป็นเรื่องปกติ จนคนไม่คิดกันว่านั่นคือความเสื่อม คนในสังคมหันเข้าสู่อบายมุขทุกช่องทาง ดื่มกิน เที่ยว เคล้าสุรานารี สตรีเพศเดียวกันแทนที่จะปกป้องกันดูแลกันเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่มี
- สุรา อบายมุขเป็นทางแห่งความเสื่อม เป็นทางแห่งความฉิบหาย ยังใช้ได้อยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่เขารณรงค์งดเหล้าช่วงเข้าพรรษา แต่ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของคนธัมมะธัมโม เป็นเรื่องของคนแก่เข้าวัด
- คนที่รับงานผ่านนายหน้า หรือจะเรียกว่า โมเดลลิ่ง ผ่าน Facebook, Line จะได้ระวังตัวมากยิ่งขึ้น อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน คำโบราณนี้ยังใช้ได้อยู่เสมอ แม้คนที่น่าไว้ใจก็ยังต้องระวังตัวอยู่เสมอ ต้องหาวิธีการดูแลและป้องกันตนเอง เช่น คนที่รับงานเป็นพริตตี้ ก่อนรับงานควรที่จะศึกษาคนรับงาน สถานที่ให้ดีว่าเป็นอย่างไร ควรที่จะรู้ว่าในงานมีกี่คน มีผู้ชายกี่คน ผู้หญิงกี่คน หน้าที่ของตนต้องทำอย่างไร ถ้าจำเป็นต้องดื่มด้วย ดื่มได้แค่ไหน ไม่ใช่ปล่อยให้เขามอมอย่างเต็มที่ถึงไหนถึงกัน ในงานมีเครื่องดื่ม ของมึนเมา การแสดงดนตรีอะไรบ้าง ไปถึงงานกี่โมง เลิกงานกี่โมง มีคนรับรองความปลอดภัยไหม ถ้ามีลายลักษณ์อักษรสัญญาจ้างยิ่งดี การไปควรมีคนไปด้วย ถ้าเขาไม่ให้เข้าในงานก็ให้คนที่ไปด้วยอยู่ข้างนอก ถ้าถึงเวลาแล้วพริตตี้ไม่ออกมาให้คนข้างนอกโทรแจ้งตำรวจ หรือถ้าไม่สามารถหาคนไปด้วยได้เพราะเสียเวลางาน ก็ต้องรายงานคนทางบ้างชัดเจน ไปถึงงานแล้ว ถ้าทุก 30 นาที หรือถึงเวลานี้ ๆ ฉันไม่ติดต่อมาให้มาตามฉันด้วยที่นี่ ๆ
- สามีก็จะได้ดูแลภรรยามากขึ้น อันที่จริงไม่ควรปล่อยให้ภรรยาของตนทำงานแนวนี้ หรือควรที่จะดูแลเธอให้มากกว่านี้ แต่ก็อย่างว่าไม่ใช่ความผิดของคนที่ทำงานแนวนี้ แต่เป็นความผิดของคนที่ทำเรื่องเลว ๆ ต่อบุคคลอื่น
- ดูความเห็นแก่ตัวของคนในสังคม ในวงการเพื่อนฝูง ถ้าตราบใดที่ผลประโยชน์ร่วมกัน หรือแชร์ความสุขให้แก่กันและกันได้ ทุกคนคือเพื่อน แต่พอเกิดเรื่องเดือดร้อน ทุกคนก็พยายามเอาตัวรอดเสมอ ยกความผิดให้คนอื่นได้ก็ยกไป ผลักความชั่วให้คนตายได้ก็ผลักไป เพราะคนตายพูดไม่ได้ มาแก้ตัวใด ๆ ไม่ได้นั่นเอง
- คนเรานั้น ถ้าทำความชั่วอย่างหนึ่งแล้ว ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะทำความชั่วในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอีก อย่างเช่น โกงคนอื่นมาแล้ว หรือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยเจตนามาแล้ว นั่นก็เป็นความชั่วอย่างสาหัส ที่เขาไม่มีความละอายใจและเกรงกลัวบาปกรรมที่เขาได้ทำลงไปแล้ว เขาจึงไม่กลัวที่จะสาบานหรือสาปแช่งตัวเองเลย ซึ่งก็เคยเห็นตัวอย่างบุคคลที่ทำความผิดแต่ก็ยังยิ้มสาบานอยู่เลย
- เป็นการติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย จริงใจต่อเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน หรือแค่ทำงานผ่าน ๆ พอให้ได้ปิดคดีไปเท่านั้น ซึ่งคดีนี้ เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้น แต่คนไทยทั่วโลกก็ให้ความสนใจและติดตามข่าวเรื่องนี้เช่นกัน
- เจ้าหน้าที่บ้านเมืองควรที่จริงจังในการป้องกันปัญหามากกว่านี้ ไม่ใช่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทราบว่าสถานที่แห่งนี้ จัดงานปาร์ตี้บ่อยมาก ชาวบ้านรู้และแจ้งไป แต่ตำรวจไม่เคยเข้าไปตรวจค้นตรวจสอบบ้างหรือ ไม่เคยซุ่มดูบ้างหรือ ว่าทำไมถึงจัดงานปาร์ตี้บ่อยนัก เอาเงินมาจากไหน ภายในสถานที่เป็นอย่างไร มีห้องลับห้องพิเศษอะไรไหม มีการต่อเติมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ แต่พอเกิดเรื่องถึงได้รู้ว่า มีการต่อเติมที่ไม่ได้รับอนุญาต (ผมก็ไม่รู้ว่าต่อเติมยังไง ผิดยังไง ฟังข่าวมาอีกที)
ทุกเรื่องมีข้อคิดเสมอ หากนำมาเป็นข้อคิดสะกิดใจ แม้ใบไม้ร่วงหนึ่งใบก็สามารถนำมาเป็นข้อคิดได้ แต่ถ้าไม่คิดอะไร ก็ไม่ได้อะไรเลย แล้วคุณล่ะ คิดว่าข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้ ลัลลาเบล ได้ให้ข้อคิดอะไรแก่สังคมบ้าง