พระมเหศวร เนื้อชินเขียว กรุวังบัว เพชรบุรี
พระมเหศวร กรุวัดวังบัว จังหวัดเพชรบุรี พบแต่พิมพ์ปางสมาธิเท่านั้น ไม่พบพิมพ์ปางอื่น แสดงพุทธลักษณะพระพักตร์กลม พระกรรณยาว
วัดวังบัว ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี สร้างขึ้นในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือ พ.ศ.๒๓๒๕ มีอายุยาวนาน ๒๔๒ ปีแล้ว (พ.ศ.๒๕๖๗)
พระกรุวัดวังบัว ถูกค้นพบเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กว่า ๆ เล่ากันว่า สมัยก่อน คนจังหวัดพะเยามาเที่ยวเมืองเพชรบุรีได้นำพระกรุกลับไปจำนวนหนึ่ง เมื่อนำไปบูชาอาราธนาติดตัวแล้ว เกิดมีประสบการณ์ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย ผู้คนจึงสืบหาไว้บูชา จึงได้ทราบว่า แท้จริงเป็นพระจากกรุวัดวังบัว อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี
พระกรุวังบัว ถูกสันนิษฐานว่า น่าจะถูกสร้างโดยพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าของเมืองเพชรบุรี มีเอกลักษณ์เฉพาะคือเป็นพระเนื้อชินเขียว หรือที่วงการพระเครื่องเรียกว่าเนื้อชินอุทุมพร และส่วนมากพระที่พบ เป็นพิมพ์หน้าเดียว หลังจะมียันต์ทุกองค์ หรือมิเช่นนั้น ก็เป็นพิมพ์สวนกลับกัน คล้ายพระมเหศวร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
พระชุดวังบัว แตกกรุ พบหลายพิมพ์ เป็นต้นว่า
พิมพ์ชินราชใบเสมา
พิมพ์พระมเหศวร
พิมพ์พระสังกัจจาย
พิมพ์พระอุปคุต
พิมพ์พระรอด
พิมพ์ปางลีลา เป็นต้น
พุทธคุณพระกรุวังบัว เพชรบุรี
พระกรุวังบัว เพชรบุรี โดยมากมีพุทธคุณโดดเด่นในด้าน แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี ตามแบบพระกรุเนื้อชินสมัยก่อน