เป็นแบบนี้ บัตรรับรองพระเครื่อง จะยังเชื่อถือได้อยู่ไหม
วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มคนไทย ไม่ใช่แค่นั้น แม้คนต่างชาติ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ให้ความสนใจวัตถุมงคลไทยทั้งใหม่และเก่า
ในจำนวนผู้ที่สนใจเช่าบูชาวัตถุมงคลนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้อยู่ในวงการพระเครื่อง หมายความว่า ดูพระไม่เป็น ดูพระไม่ออกว่าแท้หรือไม่ ไม่มีความมั่นใจว่าผู้ให้บูชาหรือผู้ขาย ได้ขายพระแท้ให้ตนเองหรือไม่ ด้วยเหตุนั้น จึงมีบริษัทสมาคมหน่วยงานหัวใสรับเป็นสื่อกลางการตรวจสอบพระแท้เก๊ให้ โดยพระเครื่องแท้ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วทางบริษัทหรือสมาคมนั้น ๆ จะทำการออกใบรับรองพระแท้ให้ ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าจะเบาใจได้ในระดับหนึ่ง ถึงกระนั้น ก็ยังมีเรื่องดราม่าถึงความไม่น่าเชื่อถือของบริษัทที่ออกใบรับรองพระเครื่องแท้ให้ได้ยินบ่อย ๆ ดังเรื่องที่ผมรับทราบมาผ่าน Facebook ที่เจ้าของพระเครื่องที่นำพระเครื่องไปออกบัตรนำมาโพสต์เอง
ส่งออกบัตรครั้งแรกแท้ ส่งอีกทีไม่แท้เฉย
หลายปีก่อน มีท่านหนึ่งนำพระเครื่องไปออกบัตรรับรองพระแท้ บริษัทที่รับออกบัตรก็ออกบัตรรับรองพระแท้ให้ เขานำพระไปประกวดที่บริษัทนั้นเป็นผู้จัด ก็ผ่านการประกวด ได้รางวัลที่ 1 ผ่านไปหลายปี เขาต้องการนำไปออกบัตรอีกครั้ง เพื่อต้องการบัตรรุ่นใหม่ที่สามารถสแกน QR โค้ดได้ แต่ครั้งนี้พี่บริษัทกลับออกบัตรว่า “พระไม่แท้” ทั้งที่เป็นบริษัทเดียวกัน งงกันเลยสิครับ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า มันไม่แน่นอนเสมอไป ครั้งแรกออกบัตรว่าแท้ แต่พอส่งออกอีกทีไม่แท้ ถ้าเก็บไว้อีกหน่อยค่อยส่ง อาจจะกลับมาแท้อีกก็ได้
ไม่รู้ว่าเป็นพระเซียน จึงออกบัตรว่าไม่แท้
เรื่องนี้มีอยู่ว่า มีเซียนใหญ่คนหนึ่งในวงการพระเครื่อง ให้เด็กนำพระเครื่องไปออกบัตร เมื่อพนักงานรับพระเครื่องมาพร้อมกับมองหน้าคนนำมาส่ง ส่องซ้ายขวาหน้าหลังแล้วพูดว่า “พระไม่แท้ครับ” เด็กคนนั้นจึงนำพระมาให้เจ้านายผู้เป็นลูกพี่ที่เป็นเซียนใหญ่ พร้อมกับบอกว่า “เขาบอกว่าพระไม่แท้ครับ” เซียนใหญ่ใจถึงจึงขับรถบึ่งไปที่สำนักงานพระเครื่องที่รับออกบัตรทันที เมื่อถึงจึงพูดว่า “พระองค์นี้ไม่แท้อย่างไร ?” กรรมการที่ทำหน้าที่รับพระมาตรวจ พูดออกมาทันทีโดยที่ยังไม่ทันได้ส่องพระว่า “ผมไม่ทราบว่าเป็นพระพี่ครับ ถ้าผมรู้ว่าเป็นพระพี่ ผมก็ออกบัตรให้แล้วครับ” เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนให้รู้ว่า พระแท้ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ที่มือใคร พระอยู่ในมือเซียนต้องแท้ แต่หากอยู่กับคนทั่วไป มักจะถูกตีว่าเก๊
ตะกรุด บัตรออกแท้ แต่แกะดู เจอรักนะจุ๊ฟ ๆ
จะเป็นอย่างไรหากคุณซื้อตะกรุดในราคาแสนแพง หุ้มเชือกลงรักเก่ามาในราคาหลายหมื่นที่คุณรักนักหนาว่านี่คือตะกรุดของพระเกจิในดวงใจ มาพร้อมบัตรรับรองของบริษัทรับรองพระแท้ชื่อดัง แต่เมื่อแกะออกมาดูแล้วไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี เมื่อเจอคำว่า “รักน๊ะ จุ๊ฟ ๆ” เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางครั้งกรรมการไม่รู้หรอกว่าเก๊แท้ แต่ออกแท้เอาเงินไว้ก่อน หรือออกว่าแท้ เพราะพิสูจน์เก๊ไม่ได้ หรือออกว่าเป็นพระแท้ให้คนซื้อไปเสี่ยงดวงเอา หรือว่าเป็นไปตามข้อบน คนที่นำไปออกบัตรเป็นเซียนใหญ่กรรมการจึงออกบัตรว่าแท้ แต่เมื่อคนเช่านำแกะดูจึงรู้ว่า ไม่แท้
บัตรรับรองพระเครื่องเชื่อได้แค่ไหน
มีคำถามว่า บัตรรับรองพระเครื่อง บัตรรับประกันพระแท้ที่ออกโดยบริษัทรับออกบัตร หมายความว่า ไม่ใช่พระของบริษัทเอง แต่เป็นพระเครื่องของบุคคลทั่วไปที่นำมาออกบัตรเพื่อที่จะนำพระเครื่องนั้นไปขายให้ราคาดี นัยว่าได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว มีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ทางบริษัทได้ทำการตรวจตามความรู้ความสามารถหรือไม่
สำหรับผมไม่สามารถใช้ความเชื่อถือบัตรรับประกันพระแท้ที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆ ได้ 100 % ใช้ความน่าเชื่อถือได้แค่ 70-90 % เท่านั้น และก็ขึ้นอยู่บริษัทที่รับออกบัตรรับประกันพระแท้นั้น ๆ ด้วย เหตุว่า
- บริษัทผู้รับออกบัตร ไม่มีส่วนรับผิดชอบ หากพิจารณาพระไม่แท้เป็นพระแท้ หมายความว่าไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ฟ้องร้องไม่ได้ แต่บริษัทได้รับเงินค่าออกบัตรเต็ม ๆ
- บริษัทรับออกบัตรพระแท้ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคนที่นำมาออก (ยกเว้นแต่รู้จักกัน อาจจะทำเป็นขบวนการ) ฉะนั้น เมื่อเจ้าของพระจ่ายเงิน บริษัทออกบัตรรับประกันพระแท้ให้ ต่อไปก็เป็นภาระหน้าที่ของเจ้าของพระที่จะทำการขายพระอย่างไร ในราคาเท่าไหร่ บริษัทที่รับออกบัตรไม่มีส่วนรู้เห็นรับผิดชอบใด ๆ ด้วย เพราะไม่ใช่เจ้าของพระ ไม่ใช่คนขายพระ เขาตรวจตามความรู้เขา อาจจะตรวจไม่ 100 % (ก็เขาไม่ใช่เจ้าของพระไม่ใช่คนขายพระ) ตรวจตามอาชีพเขา ถ้าตรวจผิดพลาดอย่างมากก็ให้เรานำพระมาตรวจใหม่
- ตราบใดที่ผู้ใช้บริการ หรือเจ้าของพระไม่สามารถที่จะฟ้องร้องบริษัทผู้รับออกบัตรได้ บริษัทผู้รับออกบัตรไม่รับผิดชอบ อย่าหวังว่าเราจะได้รับการบริการตรวจสอบพระเครื่องเต็มร้อย
ระหว่างบัตรรับประกันพระแท้จากบริษัทอื่น กับการรับประกันพระแท้จากคนขาย อย่างไหนน่าเชื่อถือกว่า
โดยส่วนตัวมองว่า ระหว่างบัตรรับประกันพระแท้จากบริษัทอื่น กับการรับประกันพระแท้จากคนขาย หรือบัตรรับประกันแท้ที่ออกโดยคนขาย ร้านของคนขายน่าจะมีความน่าเชื่อมากกว่า เพราะเป็นพระของเขา เมื่อเขาออกบัตรรับประกันให้ในนามเจ้าของพระเอง เขาขายเอง เขาต้องรับผิดชอบเอง แต่บัตรรับประกันที่ออกโดยบริษัทอื่น บริษัทที่ออกบัตรไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ในกรณีที่เจ้าของพระเครื่องนำพระนั้นไปซื้อขาย บริษัทอาจจะตรวจพระไม่เต็มที่ก็เป็นได้ หรืออาจจะไม่ได้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพระที่แท้จริง