เคยเห็นแต่เขารีวิว เสื้อผ้าสวย ๆ วันนี้ขอรีวิวแฟชั่นของพระบ้าง
อังสะ คืออะไร
อังสะ คือผ้าที่ถูกตัดเย็บย้อมขึ้นมาให้สีที่ไม่ขัดกับพระวินัยซึ่งพระภิกษุสามเณรใช้สวมเฉวียงบ่าก่อนที่จะห่มจีวรทับอีกชั้นหนึ่ง
อังสะ ถูกตัดเย็บให้มีลักษณะคล้ายสไบเฉียงของผู้หญิง คือมีบ่าด้านเดียว เย็บติดกันด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งติดกระดุมบ้าง ติดสายสำหรับผูกให้กระชับในเวลาสวมบ้าง ติดกระเป๋าไว้ด้านหน้าบ้าง ด้านที่เย็บติดกันบ้าง เวลาใช้ สวมปิดบ่าซ้าย เปิดบ่าขวา
โดยปกติพระภิกษุสามเณรจะสวมใส่อังสะขณะอยู่ตามลำพังในกุฏิหรือทำงานในวัดเพื่อไม่ให้ดูเปลือยกายท่อนบน
ในสมัยพุทธกาลไม่มีการกล่าวถึงการใช้อังสะ แม้ในประเทศไทยเอง พระสงฆ์สมัยเก่าก็ไม่นิยมสวมอังสะ คงถือคติแบบชายไทยสมัยโบราณที่ไม่นิยมสวมเสื้อเวลาอยู่ตามลำพัง
อังสะ มิใช่บริขารของภิกษุ สามเณรแต่เดิม เข้าใจว่านาจะได้ตัวอย่างการใช้มาจากภิกษุณี สามเณรี และสิกขมานาเนื่องจากเป็นสตรีจึงต้องมีเสื้อหรืออังสะใส่เพื่อปกปิดถันเอาไว้
ที่มาของอังสะ : พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548 ถูกโพสต์ที่ th.wikipedia.org
อังสะพระเครื่อง
เหตุที่ผมได้เขียนเกี่ยวกับอังสะพระเครื่องนี้ เนื่องจากหลายวันก่อนผมได้ไปสนทนาปราศรัยกับพระอาจารย์ในวัดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระเครื่อง และท่านได้นำอังสะตัวหนึ่งออกมาให้ดูซึ่งเป็นอังสะที่ศิษย์ของท่านนำมาถวาย ท่านให้ผมแสดงความคิดเห็นว่าเป็นอย่างไร ดีไหม มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร ผมจึงได้ถ่ายรูปไว้เพื่อนำมาเขียนบทความนี้
อังสะพระเครื่อง เป็นอังสะประยุกต์เพื่อให้นำมาใช้งานง่ายขึ้น มีการเพิ่มกระเป๋าขึ้นมาเป็นจำนวนมากซ่อนอยู่ด้านใน มีการปิดด้วยแผ่นผ้าด้านนอกเพื่อให้มองดูเรียบร้อยดี ไม่สะดุดตามากนัก โดยภาพรวมแล้วถือว่าออกแบบมาดี แต่มีสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมอยู่หน่อยหนึ่ง
กระดุมหลุดง่าย จากการสอบถามพระอาจารย์ทั้งหลายที่ใช้อังสะประยุกต์ที่มีกระดุม โดยเฉพาะอังสะพระเครื่องที่ต้องรับน้ำหนักพระเครื่องเป็นจำนวนมาก เมื่อใช้ไปหลายวัน กระดุมมักหลุดออกมาเพราะเย็บไม่แน่นหนาพอ ก่อนใช้พระจึงต้องทำการเย็บทับอีกที เพราะถ้ากระดุมหลุดหายไปโดยไม่รู้ตัวก็ไม่รู้จะหาเจอที่ไหน จึงฝากผู้ผลิตควรมีความละเอียดมากกว่านี้ ไม่ใช่เย็บแค่ให้กระดุมติดเท่านั้น
มาดูด้านในซึ่งถือว่าเป็นจุดขายของอังสะพระเครื่อง เมื่อเปิดซิบเข้าไปดูด้านในจะเห็นกระเป๋าขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก อังสะพระเครื่องตัวนี้มีกระเป๋าขนาดเล็กด้านในมากถึง 30 กระเป๋า ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใส่พระเครื่องโดยเฉพาะ กระเป๋าเล็ก ๆ ถูกวางเรียงเป็นระเบียบสวยงาม ใส่พระเครื่องได้พอดี ข้อเสียคือต้องใช้แหนบเหน็บห้อยพระช่วย ถ้าไม่ใช้แหนบเหน็บพระอาจจะหลุดออกจากกระเป๋ามารวมกันอยู่ด้านล่างได้ ผมคิดว่าผู้ออกแบบควรที่จะทำแบบใส่แหนบเหน็บก็ได้ ไม่ใช้แหนบ พระก็ไม่หลุดออกมา คืออาจจะเป็นลิ่มผ้าเพื่อป้องกันพระหลุดออกมาจากกระเป๋าพระ
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง เวลาพระใช้อังสะพระเครื่องที่เต็มไปด้วยพระเครื่องเวลาเข้าไปสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องเดินทางต้องถอดโลหะทุกชิ้นออกก่อน เป็นการยากและเสียเวลาอย่างมากที่จะต้องถอดพระเครื่องหลายสิบออกจากกระเป๋าทีละองค์ เป็นไปได้ไหมที่จะทำกระเป๋าใส่พระเครื่องขนาดเล็กรวมกันไว้อยู่บนแผ่นผ้าแผ่นหนึ่งซึ่งมีกระดุมเป็กหรือซิปยึดไว้ที่ตัวอังสะอีกทีหนึ่ง เวลาถอดผ่านเครื่องสแกนที่ต้องถอดพระเครื่องออก ก็แค่ถอดแผ่นผ้าออก
อังสะพระเครื่องนอกจากใส่พระเครื่องแล้ว ยังต้องใส่พาสปอร์ต หนังสือสุทธิ โทรศัพท์ ปากกา กระดาษทิชชู และของใช้ส่วนตัวอื่นอีก ฉะนั้น กระเป๋าต้องทำให้ได้ขนาดต่อการใช้งาน