ในสมัยก่อน คนไทยส่วนใหญ่ทำอาชีพกสิกรรม คือทำไร่ไถ่นา เสร็จจากนาก็ทำการค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ต่างก็ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียรจึงจะมีกินมีใช้ประสบความสำเร็จในชีวิต เหตุนั้น พระเกจิอาจารย์ในยุคก่อนจึงสร้างเครื่องรางที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับความขยันหมั่นเพียร เพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนสติให้กับชาวบ้านให้ยึดมั่นในความเพียร ซึ่งก็คือ ปลาตะเพียน หากสร้างด้วยแผ่นเงินแผ่นทอง ก็จะเรียกว่า ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง
วิธีใช้ปลาตะเพียน ทอง-เงิน
ถ้าเป็นร้านค้าขายสินค้าของกินของใช้ให้เอาเชือกผูกปลาตะเพียนเงินปลาตะเพียนทองแขวนไว้ในหน้าร้าน ในจุดที่ลมพัดผ่าน ในจุดที่ปลาสามารถแหวกว่ายไปมาได้ ถ้ำค้าขายหาบคอนให้ใส่ปลาตะเพียนเงินปลาตะเพียนทองข้างละตัว ถ้าเป็นรถเข็นให้แขวนปลาตะเพียนนั้นไว้หน้ารถเข็น ถ้าทำนาทำไร่ ทำสวนผลไม้ ให้ใส่ปลาตะเพียนในกระบอกไม้ไผ่หรือกระป๋องปิดฝาฝังดินไว้ในบริเวณที่ทำไร่ทำนาเพื่อให้ข้าวกล้าเจริญงอกงาม กันโรคข้าวกล้า ถ้าจะเดินทางไปในที่ใดให้นำติดตัวไปด้วย เป็นเมตตามหานิยม นำมาซึ่งลาภผลพูนทวีฯ
ติดปลาตะเพียนที่เสาบ้านเรือนอาคารสถานที่ก็จะช่วยให้กิจการงานเจริญรุ่งเรือง คนในบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เรียกเงินเรียกทองเรียกทรัพย์สินข้าวของเข้ามาในเคหะสถาน
หากจะติดปลาตะเพียนที่หน้าประตูบ้านร้านค้าเคหะสถาน ควรติดทางด้านขวามือของประตูเข้า หรือด้านซ้ายเมื่อเดินออกจากประตู
คาถาบูชาพญาปลาตะเพียนทอง
อิติ พุทธัสสะ สุวัณณัง วา ธะชะตัง วา มะณี วา วัตถัง วา ปัฏฐิตัง วา เอหิ เอหิ อาคัจฉันติ สวาหะ
ใช้สวดบูชา ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง เรียกโชคลาภมาไม่ขาดสาย
คาถาสำหรับเสกน้ำทำน้ำมนต์ประพรมปลาตะเพียน
คาถาสำหรับสวดเสกน้ำทำน้ำมนต์ประพรมปลาตะเพียน และของที่ขายเพื่อให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ตั้งนะโม ๓ จบ
พุทโธ นะ มะ พะ หะ นะ ชาลีติ พุทธะสังมิ สัพเพชะนานัง
พะหู ชะนานัง เอหิมาเรโส เอหิจิตตัง ปิยังมะมะ มา มา ฯ
คาถาเรียกลาภ
นะมามีมา มะหาลาภา อิติพุทธัสสะ สุวัณณัง วา ระชะตัง วา มะณี วา ธะนัง วา พีชัง วา อัตถัง วา ปัตถัง วา เอหิ เอหิ อาคัจเฉยยะ อิติมีมา นะมามิหัง ฯ
ใช้สวดภาวนาคาถานี้ก่อนนอน 3 จบ และตื่นนอนตอนเช้าอีก 3 จบ เพื่อเป็นการเรียกทรัพย์เรียกลาภให้เข้ามาทุกวัน
ทำไมเกจิอาจารย์ทั้งหลายจึงสร้างเครื่องรางปลาตะเพียน
1. เชื่อว่าเป็นปลามงคล นำมาสร้างเป็นเครื่องรางมงคลที่บูชาแล้วส่งผลในด้านโชคลาภ เงินทอง ให้ความร่มเย็นเป็นสุข อนึ่ง ปลาตะเพียนเป็นสัตว์น้ำที่หากินคล่องแคล่ว ปราดเปรียวก รวดเร็ว จึงเชื่อจะยังความสำเร็จให้เกิดขึ้นเร็วด้วยความเพียร
2. ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง มีความหมายแฝงถึงความเจริญก้าวหน้าไม่หยุดยั้งเหมือนปลาที่สืบสายพันธุ์ต่อไปไม่มีวันหมดสิ้น นอกจากนั้นยังมีความหมายรวมไปถึงการครองชีวิตร่วมกันอย่างยั่งยืน มีความสุขตลอดไป
3. ชื่อของปลาตะเพียน คำว่า “เพียน” ซึ่งเป็นคำที่ออกเสียงคล้ายกับคำว่า “เพียร” อันหมายถึงความขยันหมั่นเพียร ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จด้วยความหมั่นเพียรนั้น
4. กล่าวกันว่าปลาตะเพียนเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า แม้พระองค์จะเกิดเป็นปลา พระองค์ก็ทรงทำความดีตามหน้าที่พระโพธิสัตว์ กล่าวถึงปลา 3 ตัว เป็นสหายกันชื่อว่า พหุจินตี อัปปจินตี และมิตจินตี ปลาตะเพียนเจ้าปัญญาชื่อมิตจินตีได้ช่วยให้เพื่อนหลุดพ้นจากความตายจากการถูกจับด้วยตาข่ายด้วยปัญญา พระพุทธองค์นำเรื่องอดีตชาติมาเป็นข้อคิดคติธรรมว่า “ไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่งเพราะจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี” มีกำลังความสามารถก็ควรทำความขยันหมั่นเพียรเสียแต่วันนี้
ความเพียรในพระพุทธศาสนา 4 ประการ
ในพระพุทธศาสนากล่าวถึงความเพียร 4 ประการ เรียกว่า สัมมัปปธาน 4 หรือ ปธาน 4 ได้แก่
1. สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
(เพียรระวังสิ่งที่ไม่ดีที่จะขัดขวางหรือทำลายความสำเร็จในชีวิต)
2. ปหานปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
(เพียรละสิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ ที่มันบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าให้ออกไปเสีย)
3. ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี
(เพียรทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า)
4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่ง
(เพียรรักษาคุณธรรมที่ให้เกิดความสำเร็จ หรือความสำเร็จนั้นไว้ ไม่ให้ฉิบหายไป)