อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิฯ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้ เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ปฏิบัติตามธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อบรรลุถึงความเป็นสมาธิแห่งจิต ความสำเร็จในชีวิตและสันติสุขคือ มรรคผลพระนิพพาน ตั้งแต่กาลบัดนี้เป็นต้นไป
คำสมาทานกรรมฐาน หรือคำอาราธนากรรมฐานนั้น ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว ฉะนััน ขอเพียงมีความตั้งใจ มีความตั้งมั่น ปรารภความเพียร คือตั้งใจบำเพ็ญกรรมฐานจริง ๆ เป็นอันใช้ได้ แต่สมาทานเฉย ๆ แต่ไม่บำเพ็ญกรรมฐาน การสมาทานนั้นก็แทบจะไม่มีประโยชน์ นอกจากเป็นอารมณ์แห่งพุทธคุณชั่วขณะที่ระลึกถึงจากคำสมาทานกรรมฐานนั้น
ถามว่า ทำไมต้องสมาทานกรรมฐาน สำหรับผู้เริ่มศึกษา หรือเริ่มภาวนา ควรได้สมาทานกรรมฐาน หรืออาจจะเรียกว่าขึ้นกรรมฐานก็ได้ เพื่อใช้เป็นแนวทาง ใช้เป็นกำลังใจในการภาวนา เป็นการน้อมนำพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ มาเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เพื่อให้ผู้เริ่มทำกรรมฐานมีกำลังใจที่เข้มแข็ง มีความเพียรที่หนักแน่น ไม่ย่อท้อ แต่หากผู้ที่มีจิตแก่กล้าแล้ว มีความชำนาญแล้ว มีความคล่องแคล่องแล้ว มีความเพียรสม่ำเสมอแล้ว ก็สามารถลงมือทำสมาธิเมื่อไหร่ก็ได้ (ความจริงการฝึก ควรฝึกได้ตลอดเวลา ทุกอริยาบถ)