พระพุทธรูปหักควรปฏิบัติอย่างไร
เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ณ วัดแห่งหนึ่ง ผู้เขียนขอย้อนรอยอดีตมาเล่าให้ฟัง มีอุบาสิกาท่านหนึ่งเข้ามาในวัด เมื่อสนทนากับพระพอสมควรแล้ว เธอจึงกล่าวว่า
อุบาสิกา : หลวงพ่อเจ้าคะ โยมทำนิ้วพระหัตถ์ของพระพุทธรูปองค์หนึ่งหัก เก็บไว้ที่บ้านไม่ดี จะนำมาถวายวัด
หลวงพ่อ : โยม แล้วการนำพระพุทธรูปนิ้วพระหัตถ์หักมาถวายวัดดีอย่างไร?
อุบาสิกา : ไม่รู้สิหลวงพ่อ แต่เค้าบอกว่าพระหัก พระแตก ไม่ให้เก็บไว้ที่บ้าน ไม่ดี ?
หลวงพ่อ : โยมเคยได้ยินไหม คำกล่าวที่ว่า
ผู้ให้สิ่งที่ปราณีต ย่อมได้รับสิ่งที่ปราณีต ผู้ให้สิ่งประเสริฐ ย่อมได้รับสิ่งประเสริฐ ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้รับสิ่งที่เลิศ
ผู้ที่กล่าวว่าทำพระพุทธรูปหักแล้ว ไม่ดี ไม่ควรเก็บไว้ ควรนำถวายวัด หรือเก็บไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ นั่นเป็นการกล่าวปัดความรับผิดชอบของตัวเอง หรือรับแต่ชอบ ไม่รับผิด
ตอนองค์ท่านสวย สมบูรณ์สง่างาม ก็บอกว่าเป็นมงคล พอทำองค์ท่านหักกลับบอกว่าไม่เป็นมงคล ว่าไม่ดี การกล่าวอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่
ทางที่ดีถ้าปฏิสังขรณ์ (ซ่อม) ได้ ก็ควรทำให้สมบูรณ์เสีย ถ้าทำไม่ได้ก็เก็บสักการะบูชาเหมือนเดิมนั่นแหล่ะ
ถ้าเราทำหักเอง ควรขอขมาองค์ท่าน แล้วสักการะบูชา เหมือนที่เคยปฏิบัติมา
ความเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นที่อิฐ หินทราย ที่ทำ
แต่เราสักการะบูชาพระพุทธคุณ คิดง่าย ๆ ถ้าโยมคิดว่า สิ่งนั้นไม่ดี โยมให้สิ่งนั้นแก่คนอื่นไป โยมคิดว่านั่นเป็นการดีหรือ
เกี่ยวกับพระหักนี้ หลวงปู่ครูอาจารย์หลายท่านก็มักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ควรที่จะซ่อมแซม ไม่ใช่นำไปทิ้ง (ลองคิดดูหากเป็นพระสมเด็จวัดระฆังราคาเป็นล้านหักท่านจะทิ้งหรือซ่อม)
เมื่อคนนำพระคอหักไปทิ้ง โดนหลวงปู่ไดโนเสาร์ว่า แทบน้ำตาไหล
แม้หลวงปู่ดู่ แห่งวัดสะแก ก็ทราบมาว่า แม้แต่องค์ท่านเมื่อเป็นฆราวาส ก็ยังเคยห้อยพระที่หักแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นไร ส่วนพระที่ท่านสร้างท่านก็จะอธิษฐานว่า “เมื่อใดก็ตามที่ของที่ทำละลายเป็นน้ำ เมื่อนั้นจึงขอให้หมดอานุภาพ” นอกจากนั้นท่านยังกล่าวว่าซ่อมของที่แตกหักแล้วให้ใช้ได้เหมือนเดิมมีอานิสงส์มากกว่าสร้างใหม่ จริงหรือไม่ลองไปพิจารณาดูครับ