วันปวารณา และคำปวารณาออกพรรษา
วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ตรงกับวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา 3 เดือน คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำการปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หมายถึงยอมมอบตนให้สงฆ์กล่าวตักเตือน ในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็นได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อจักได้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญของพระธรรมวินัยและความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน
วันที่พระสงฆ์ทำมหาปวารณานี้ เรียก “ตามที่เข้าใจกันทั่วไป” ว่า วันออกพรรษา แต่ตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุทั้งหลายยังต้องอยู่ในจำพรรษาในคืนวันนั้น (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) อีกคืนหนึ่ง จะไปค้างแรมที่อื่นเลยไม่ได้ ต้องให้ผ่านอรุณเข้าวันใหม่ (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) เสียก่อน
ความเป็นมาของวันมหาปวารณา
ครั้งหนึ่ง มีภิกษุที่จำพรรษาในแคว้นโกศล ตั้งกติกาว่า จะไม่พูดกัน แต่ใช้วิธีบอกใบ้ หรือใช้มือแทนคำพูด เมื่อออกพรรษาแล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถาม ทรงติเตียน และทรงอนุญาตการปวารณา คือ การอนุญาตให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ภิกษุจำพรรษาแล้ว ย่อมปวารณากันด้วยเหตุ 3 ประการคือ
- โดยได้เห็น
- โดยได้ยิน ได้ฟัง
- โดยสงสัย
พิธีกรรมปวารณา
ปวารณาว่าโดยผู้ทำมี ๓ อย่าง คือ
๑. สงฆ์ปวารณา ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป (เป็นญัตติกรรม)
๒. คณะปวารณา ต่ำกว่า ๕ รูป (๒-๔ รูป)
๓. บุคคลปวารณา รูปเดียว
วิธีทำปวารณามี ๓ คือ
๑. เตวาจิกปวารณา ว่าคำปวารณา ๓ หน
๒. เทฺววาจิกปวารณา ว่าคำปวารณา ๒ หน
๓. เอกวาจิกปวารณา ว่าคำปวารณาหนเดียว
สังฆปวารณา หรือ สงฆ์ปวารณา
ตั้งญัตติ ๕ อย่าง (ใช้กับสงฆ์ปวารณา คือ พระ ๕ รูปขึ้นไป)
ก่อนจะปวารณา ภิกษุรูปหนึ่งต้องตั้งญัตติก่อนแล้วจึงปวารณาและการตั้งญัตติ มี ๕ อย่าง (ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) คือ
๑. สัพพะสังคาหิกาญัตติ ไม่ระบุให้ว่าคำปวารณากี่ครั้ง แต่นิยมว่า ๓ ครั้ง คำตั้งญัตติว่า “สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ อัชชะ ปะวาระณา ปัณณะระสี ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ เตวาจิกัง ปะวาเรยยะ”
๒. เตวาจิก ให้ว่าคำปวารณา ๓ ครั้ง ตั้งญัตติว่า “สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ อัชชะ ปะวาระณาปัณณะระสี ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ เตวาจิกัง ปะวาเรยยะ” อย่างนี้ต้องว่า ๓ ครั้ง จะว่า ๑-๒ ครั้งไม่ได้
๓. เทฺววาจิก ให้ว่าคำปวารณา ๒ ครั้ง ตั้งญัตติเหมือน เตวาจิก แต่เปลี่ยน “เตวาจิกัง” เป็น “เทฺววาจิกัง” ตั้งญัตติอย่างนี้ จะปวารณาครั้งเดียวไม่ได้ ต้องปวารณา ๒ ครั้งหรือ ๓ ครั้งก็ได้
๔. เอกวาจิก ให้ว่าคำปวารณาหนเดียว ตั้งญัติติดังกล่าวมาแล้ว “เทฺววาจิกัง” เป็น “เอกะวาจิกัง” ตั้งญัตติอย่างนี้ จะปวารณา ๒-๓ หน ก็ได้
๕. สะมานะวัสสิกา ให้ภิกษุมีพรรษาเท่ากันว่าคำปวารณาพร้อมกัน ตั้งญัตติว่า “สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ อัชชะ ปะวาระณา ปัณณะระสี ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ สะมานะวัสสิกัง ปะวาเรยยะ” ตั้งญัตติอย่างนี้จะว่าปวารณา ๑-๒-๓ หนก็ได้
การตั้งญัตติอย่างใดก็ตาม คำปวารณาคงยุติเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อตั้งญัตติเสร็จแล้ว ภิกษุผู้เป็นเถระ คือผู้มีพรรษามากที่สุดในที่ประชุมสงฆ์นั้น นั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวคำปวารณา ใช้ “อาวุโส” แทน “ภันเต” เมื่อพระสังฆเถระปวารณาแล้ว ภิกษุนอกนั้นพึงปวารณาตามลำดับ
คำปวารณาออกพรรษา
คำปวารณานี้ใช้กับสงฆ์ปวารณา คือพระภิกษุผู้ทำสังฆกรรม ๕ รูปขึ้นไป
สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทันตุ มัง อายัส๎มันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ ฯ
ทุติยัมปิ ภันเต สังฆัง ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทันตุ มัง อายัส๎มันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ ฯ
ตะติยัมปิ ภันเต สังฆัง ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทันตุ มัง อายัส๎มันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ ฯ
แปลว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ หากท่านทั้งหลายได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย ว่า…กระผมได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี”
คณะปวารณา
ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่จำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป เมื่อถึงวันปวารณา พึงประชุมกันแล้วปฏิบัติดังนี้
มีภิกษุ ๔ รูป รูปหนึ่งพึงตั้งญัตติว่า “สุณาตุ เม อายัสมันโต อัชชะ ปะวาระณา ปัณณะระสี ยะทายัสมันตานัง ปัตตะกัลลัง มะยัง อัญญะมัญญัง ปะวาเรยยามะ”
ถ้ามีภิกษุ ๓ รูป เปลี่ยน “อายัสมันโต” เป็น “อายัสมันตา”
คำปวารณาออกพรรษา สำหรับภิกษุ ๓-๔ รูป
อะหัง อาวุโส อายัสมันเต ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ ฯ
ทุติยัมปิ อาวุโส อายัสมันเต ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ ฯ
ตะติยัมปิ อาวุโส อายัสมันเต ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ ฯ
คำปวารณาออกพรรษา สำหรับภิกษุ ๒ รูป
ถ้ามีเพียง ๒ รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ ปวารณาว่าดังนี้
อะหัง อาวุโส อายัสมันตัง ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทะตุ มัง อายัสมา อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ
ทุติยัมปิ อาวุโส อายัสมันตัง ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทะตุ มัง อายัสมา อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ
ตะติยัมปิ อาวุโส อายัสมันตัง ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา, วะทะตุ มัง อายัสมา อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ
ถ้ารูปมีพรรษาอ่อนกว่า ใช้ “ภันเต” แทน “อาวุโส”
ถ้ารูปมีพรรษาอ่อนกว่า ใช้ “ภันเต” แทน “อาวุโส”
คำปวารณาออกพรรษา สำหรับภิกษุรูปเดียว
บุคคลปวารณา คือพระภิกษุอยู่รูปเดียว ไม่สามารถเดินทางไปร่วมปวาณาที่อื่นได้ ไม่ต้องตั้งญัติ
ให้ปวารณาว่า “อัชชะ เม ปะวาระณา” (วันนี้ เป็นวันปวารณาของเรา)
ที่มา :
http://www.watpamahachai.net/watpamahachai-56.htm
https://th.wikipedia.org/wiki/มหาปวารณา