หลายท่านคงจะมีความสงสัยว่า รูปอะไรบ้างที่อยู่บนพระบาทของพระพุทธเจ้า ผมเองก็สงสัยเหมือนกัน จึงได้ทำการค้นหาข้อมูลใน google ค้นไปค้นมาเจอโพสต์ท่านหนึ่งซึ่งเขียนไว้ดีมาก ๆ ผมยอมเสียเครดิตตนเอง copy มาเผยแผ่ไว้ ณ ที่นี้
มงคล 108 ในพระพุทธบาทลักษณะ
ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ความคิดเรื่อง “มงคล” ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเน้นที่ “มงคล 38 ประการ” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติตน โดยที่ไม่ได้ทรงตรัสถึงสิ่งที่เป็นมงคล หรือ สัญลักษณ์ที่เป็นมงคลแต่ประการใด แนวคิดเรื่องมงคล 108 ประการ จึงเป็นแนวคิดเกิดขึ้นภายหลัง ดังปรากฏสัญลักษณ์มงคลของอินเดีย ที่มีตั้งแต่โบราณ เช่น เครื่องหมายสวัสดิกะ มาเป็นสัญลักษณ์มงคลที่ปรากฏในรอยพระพุทธบาท ปรากฏหลักฐานทั้งในคัมภีร์เถรวาท และมหายาน และหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับ “รอยพระพุทธบาท” และ “มงคล 108 ในพระพุทธบาทลักษณะ”
คัมภีร์ ๆ กล่าวถึงรูปมงคลบนพระพุทธบาท
- คัมภีร์ มหาวัสตุ องทาน ฉบับภาษาสันสกฤต กล่าวว่า ในพระพุทธบาท จะปรากฏ จักร (ธรรมจักร) สวัสดิกะ นอกจากนี้ ยังมีภาพดอกบัวที่ฝ่าพระหัตถ์ และพระพุทธบาท
- คัมภีร์ ลลิตวิสตระ ภาษาสันสกฤต กล่าวว่า ในพระพุทธบาทจะประกอบไปด้วย สวัสดิกะ นันทยาวรรต และสหัสรารจักร
- คัมภีร์ ภัทรกัลปิกะ ภาษาทิเบต กล่าวว่า ในพระพุทธบาทจะมีภาพหม้อน้ำ สวัสดิกะ และนันทยาวรรต
- คัมภีร์ ศรีศากยสิงหะ-โสตตระ ภาษาสันสกฤต กล่าวว่า ในพระพุทธบาท จะมีภาพจักร ที่ฝ่าพระหัตถ์จะมีรูปจามร และจักร
- ในคัมภีร์ฝ่ายบาลี ก็กล่าวถึงสัญลักษณ์มงคลในพระพุทธบาท ด้วย เช่น ในคัมภีร์ พุทธวงศ์ ภาษาบาลี กล่าวว่า ในพระพุทธบาท จะมีรูปจักร ธช (ธง) วชิระ ปฏากา วัฑฒมาน และอังกุศ
- คัมภีร์ อปทาน ภาษาบาลี กล่าวว่า ในพระพุทธบาท มีรูปจักร อังกุศ ธช ในนรสีหคาถา ภาษาบาลี กล่าวว่า ในพระพุทธบาท จะประกอบไปด้วย จักร จามร ฉัตร เป็นต้น
มงคล 108 ในพระพุทธบาท พบฉบับใบลาน
ในราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 เริ่มมีรูปมงคลบนพระพุทธบาท เช่น รูปสวัสดิกะ รูปตรีรัตน รูปภัทรบิฐ และรูปดอกบัว ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-9 พระพุทธบาทในสมัยอมราวดี จึงเริ่มมีลายมงคล 8 ประการ คือ คันฉ่อง ขอช้าง ปลาคู่ ตรีรัตน หม้อน้ำ ศรีวัดสะ สวัสดิกะ และ วัฑฒมาน ต่อมาความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธบาทนี้ ได้มีการนำมาขยายความและเกิดคติความเชื่อ เรื่องมงคล 108 ประการ โดยเฉพาะที่ลังกาทวีป ราวพุทธศักราช 1700 พระพุทธรักขิตเถระ ได้รจนาฎีกาขยายความคัมภีร์ชินาลังกาขึ้น เรียกว่า “ชินาลังการฎีกา” คัมภีร์นี้เอง ที่ได้กล่าวถึงมงคล 108 ประการในรอยพระพุทธบาท ซึ่งเรียกว่า “อัฏฐุตตรสตมหามงคล” ไว้ด้วย
ในภายหลังได้มีผู้รจนาขยายความ “มงคล 108 ในพระพุทธบาท” ชื่อว่า “คัมภีร์พุทธบาทลักขณะ” แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง และยุคสมัยแต่ง คัมภีร์พุทธบาทลักขณะที่พบในปัจจุบันเป็นฉบับใบลาน อักษรขอม-ภาษาบาลี จารขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2292 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา
รอยมงคล 108 ในพระพุทธบาท
ตามหลักฐานทางโบราณคดีนั้น พระพุทธบาทเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะรอยมงคล 108 ในพระพุทธบาท ปรากฏสืบเนื่องมาทั้งในการสร้างรอยพระพุทธบาททั้งในลังกา พุกาม สุโขทัย อยุธยา กัมพูชา
ในปัจจุบันที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) ปรากฏสัญลักษณ์มงคล 108 ที่ภาพสายประดับมุกที่ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์ ผู้ที่ไปเที่ยวชมวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง มักจะลืมเลือนเว้นไปเยือนวัดโพธิ์ ซึ่งมีสัญลักษณ์อันเป็นมงคลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ณ ปัจจุบันยังเป็นวัดมรดกโลกแห่งใหม่อีกด้วย
จากหนังสือรัตนมงคลคำฉันท์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, กรมศิลปากร, 2547, หน้า 148
แผนผังแสดง ลักษณะการจัดวางรูปมงคล 108 ประดับมุกที่ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพน
ที่มา : http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=689.0;wap2
ภาพมงคล ๑๐๘ ประการบนพระพุทธบาท
ร้อยแปดมงคลบนพระบาทพระพุทธไสยาสน์
มงคลที่ 1 ปาริสัชชาพรหม
มงคลที่ 2 ปโรหิตาพรหม
มงคลที่ 3 มหาพรหม
มงคลที่ 4 ปริตตาภาพรหม
มงคลที่ 5 อัปปมาณาพรหม
มงคลที่ 6 อาภัสราพรหม
มงคลที่ 7 ปริตสุภาพรหม
มงคลที่ 8 อัปปมานสุภาพรหม
มงคลที่ 9 สุภกิณหกาพรหม
มงคลที่ 10 เวหัปผลาพรหม
มงคลที่ 11 อสัญญีสัตตาพรหม
มงคลที่ 12 อวหาสุทธาวาสพรหม
มงคลที่ 13 อติปปาสุทธาวาสพรหม
มงคลที่ 14 สุทัสสาสุทธาวาสพรหม
มงคลที่ 15 สุทัสสีสุทธาวาสพรหม
มงคลที่ 16 อกนิฏฐสุทธาวาสพรหม
มงคลที่ 17 สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
มงคลที่ 18 สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
มงคลที่ 19 สวรรค์ชั้นยามา
มงคลที่ 20 สวรรค์ชั้นดุสิต
มงคลที่ 21 สวรรค์ชั้นนิมมานรดี
มงคลที่ 22 สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวดี
มงคลที่ 23 ดอกพุดซ้อน
มงคลที่ 24 เถาวัลย์แก้ว
มงคลที่ 25 พระแสงหอก
มงคลที่ 26 พระแสงขอ
มงคลที่ 27 พระแสงขรรค์
มงคลที่ 28 พระมหามงกุฏ
มงคลที่ 29 เศวตฉัตร
มงคลที่ 30 กุณฑล
มงคลที่ 31 สังวาล
มงคลที่ 32 ประสาท
มงคลที่ 33 เสลียงทอง
มงคลที่ 34 พระแท่นภัทรบิฐ
มงคลที่ 35 พัชนี
มงคลที่ 36 พนมหางนกยูง
มงคลที่ 37 สังข์ทักษิณาวัฏ
มงคลที่ 38 พญาช้างเอราวัณ
มงคลที่ 39 พัดโบก
มงคลที่ 40 ภูเขายุคนธร
มงคลที่ 41 จันทรมณฑล
มงคลที่ 42 ภูเขาพระธิเนรุราย
มงคลที่ 43 กลุ่มดาวนักษัตร
มงคลที่ 44 สุริยมณฑล
มงคลที่ 45 ภูเขาอิสินธร
มงคลที่ 46 พัดใบตาล
มงคลที่ 47 ภูเขากรวิก
มงคลที่ 48 ภูเขาสุทัสสนะ
มงคลที่ 49 ภูเขาเนมินธร
มงคลที่ 50 ภูเขาหินตกะ
มงคลที่ 51 ภูเขาอัสสกรรณ
มงคลที่ 52 พญานกจากพราก
มงคลที่ 53 กินนร
มงคลที่ 54 กินนรี
มงคลที่ 55 จักรวาล
มงคลที่ 56 พญาหงส์
มงคลที่ 57 พญาครุฑ
มงคลที่ 58 พญา โคอุสุภราช
มงคลที่ 59 โคแม่ลูก
มงคลที่ 60 พญาราชสีห์
มงคลที่ 61 พญาเสือโคร่ง
มงคลที่ 62 พญานาค
มงคลที่ 63 พญาจระเข้
มงคลที่ 64 มกรทอง
มงคลที่ 65 นกการเวก
มงคลที่ 66 พญานกกระเรียน
มงคลที่ 67 พญานกยูง
มงคลที่ 68 ธงชาย
มงคลที่ 69 สระกัณณมุณฑะ
มงคลที่ 70 สระรถการะ
มงคลที่ 71 สระอโนดาต
มงคลที่ 72 สระฉัททันต์
มงคลที่ 73 สระกุณาละ
มงคลที่ 74 อุบลชาติปทุมชาติ
มงคลที่ 75 ธงปฎาก
มงคลที่ 76 ม้าแก้ว
มงคลที่ 77 ช้างแก้ว
มงคลที่ 78 จักรแก้ว
มงคลที่ 79 พระเจ้าจักรพรรดิ
มงคลที่ 80 นางแก้ว
มงคลที่ 81 แว่นส่องพระพักตร์
มงคลที่ 82 แก้วมณีโชติ
มงคลที่ 83 บาตรแก้ว
มงคลที่ 84 ป่าหิมพานต์
มงคลที่ 85 แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา
มงคลที่ 86 พระแส้จามรี
มงคลที่ 87 ขุนคลังแก้ว
มงคลที่ 88 ขุนพลแก้ว
มงคลที่ 89 พวงดอกมะลิ
มงคลที่ 90 พระเต้ามีน้ำเต็มบริบูรณ์
มงคลที่ 91 ถามเต็มบริบูรณ์
มงคลที่ 92 แม่น้ำสรภูองกา
มงคลที่ 93 อุตตรกุรุทวีป
มงคลที่ 94 สุรัสวดีคงคา
มงคลที่ 95 ภูเขาไกรลาส
มงคลที่ 96 อจิรวดีคงคา
มงคลที่ 97 ชมพูทวีป
มงคลที่ 98 แท่งเสาศิลา
มงคลที่ 99 แม่น้ำมหิดงกากับมหานที่คงคา
มงคลที่ 100 ภูเขาจักรวาฬ
มงคลที่ 101 สระมันทากินี
มงคลที่ 102 สระสีหปปตะ
มงคลที่ 103 ภูเขาหิมพานต์
มงคลที่ 104 บุพพาวิเทหทวีป
มงคลที่ 105 สำเภาทอง
มงคลที่ 106 ปลาทอง
มงคลที่ 107 อมรโกยานทวีป
มงคลที่ 108 พญานกโพระดก
ที่มา : http://www.polyboon.com/stories/story000090.html