พระสมเด็จสามชั้น เนื้อทองผสม
พระสมเด็จสามชั้น สามเหลี่ยม เนื้อทองผสม จับขอบเงินเก่า เจ้าของบอกว่า เป็นพระของหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ผมไม่ทราบแน่ชัด เมื่อรับภาพเขามาเขียนแล้ว (ไม่ได้รับค่าจ้าง เขียนเอายอดวิวเฉย ๆ) ก็ต้องเคารพในเจ้าของเขา คือเขาบอกว่าพระสมเด็จของหลวงพ่อพรหม ผมก็ต้องว่าตามนั้น
ท่านผู้อ่านตัดสินใจเอง ผมอยู่ในฐานะไม่รู้ การที่ผมไม่รู้ก็ไม่ได้ทำให้พระเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะผมไม่ได้รับดูพระ ไม่ได้มีหน้าที่ในการตรวจสอบว่าพระที่ไหน แท้หรือไม่
ประวัติ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อพรหม ถาวโร ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปี มะแม ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พศ. 2426 ณ ตำบลบ้านแพรก อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายหมี-มารดานางล้อมโกสะลัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน คือ
1.นางลอย
2.นายปลิว
3.หลวงพ่อพรหม
4.นางฉาบ
หลวงพ่อพรหม ในขณะเยาว์วัยได้ศึกษาอ่านเขียนกับพระในวัดใกล้บ้าน ศึกษาอักษรขอมควบคู่กับภาษาไทยตั้งแต่ก่อนอุปสมบท เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดเขียนลาย ต.บ้านแพรก อ.บ้านแพรก จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2447 ได้รับฉายาว่า “ถาวโร” โดยมีหลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมจนชำนาญและเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
หลวงพ่อพรหม เริ่มศึกษาวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคมกับอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ชื่ออาจารย์พ่วง ต่อมาเมื่ออุปสมบทแล้วจึงได้ศึกษาอสุภกรรมฐาน สมถะกรรมฐาน วิปัสสนา จากหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไม่ทราบวัดอยู่ประมาณ 4 ปี ในพรรษาที่ 5 อาจารย์พ่วง ได้พาไปฝากอาจารย์ปู่วอน ซึ่งเป็นฆราวาส และได้ศึกษาวิชาแขนงต่างๆเป็นเวลา 5 ปีเต็ม จนกระทั่งอาจารย์ปู่วอนถึงแก่กรรม ซึ่งในภายหลังหลวงพ่อพรหมได้นำกระดูกมาเก็บไว้ที่วัดช่องแค จากนั้นหลวงพ่อพรหม ก็ไม่ได้ไปศึกษากับอาจารย์ท่านใดโดยตรงมีแต่ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์รุ่นพี่และรุ่นเดียวกันในระหว่างธุดงค์ เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ เป็นต้น
เมื่อครู่ไปหาข้อมูลมา พระสมเด็จสามชั้น สามเหลี่ยม เนื้อทองผสม จับขอบเงินเก่า องค์นี้น่าจะเป็นพระสมเด็จเนื้อระฆัง พิมพ์ใบหอก ปี 2516 หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ซึ่งมี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใบหอกเล็ก-พิมพ์ใบหอกใหญ่ สร้างด้วยเนื้อระฆังเก่า ปลุกเสก 2 ครั้ง พร้อมพิมพ์ตัดชิดองค์พระ สร้างจำนวนน้อย
สรุป หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค มีพิมพ์นี้ เนื้อนี้จริง ผมเริ่มชอบพระเนื้อทองผสมแล้วสิครับ