ผมเองได้เดินทางไปประเทศอินโดนีเซียมาไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง เดินทางไปเมืองสำคัญ หลายที่ ไม่ว่าจะเป็น จาการ์ตา เปอกันบารู, บันดุง, ยกยาการ์ตา, บาหลี และเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ มีบรมพุทโธ เป็นต้น ผมมีความสังเกต ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก แต่ทำไมใช้ครุฑอันเป็นเทพพาหนะของชาวฮินดูและมีเรื่องเล่าในพระพุทธศาสนาด้วย มาเป็นตราสัญลักษณ์ของประเทศ เมืองเก่าแก่หลายเมืองเช่น บาหลี มีรูปปั้นครุฑขนาดใหญ่ มีรูปปั้นหนุมานขนาดใหญ่ ให้เห็นกัน และแล้วผมก็มาเจอบทความของรองศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ใน การสร้างศิลปกรรมรูปครุฑจากอดีตสมัยสืบสานสู่ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชีย The Creation of Garuda Art, from the past to Present in Asian Region ซึ่งมีเนื้อความว่า
อินโดนิเซียเป็นประเทศที่รับเอาอิทธิพลเรื่องครุฑมาจากอินเดีย ผ่านความเชื่อ ของผู้นับถือศาสนาฮินดูที่เผยแพร่มาถึงหมู่เกาะชวา แม้ประเทศอินโดนีเซียจะมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติก็ตาม แต่อิทธิพลของฮินดูและพุทธศาสนายังคงอยู่ในพื้นที่อาณาจักรทางภาคกลางและภาคตะวันออกโดยแผ่ไปถึงเกาะบาหลี ที่มีวัฒนธรรมแบบ ฮินดูอยู่มาก มหากาพย์เรื่องสำคัญที่ยังมีอิทธิพลมาก คือ มหาภารตะและ รามายณะ ชาวอินโดนีเซียเคารพศรัทธาในพระนารายณ์ และนับถือพญาครุฑในฐานะสัตว์พาหนะ ผู้มากด้วยฤทธิ์ ซึ่งชาวอินโดนิเซียเรียกว่า “การูด้า” (Garuda) มาจากภาษาสันสกฤต คือกะรุดะส่วนบาลีอ่านว่ากะระละ ความเชื่อเรื่องครุฑของอินโดนิเซียมีอิทธิพลจากศาสนาฮินดูในประเด็นนี้ สัญญา วงศ์อร่ามได้ให้ข้อคิดเห็นความว่าศิลปะฮินดูที่แพร่หลายในหมู่เกาะชวาหรืออินโดนิเซียในปัจจุบัน จะปรากฏอยู่ใน วรรณกรรมมหาภารตะยุทธและ มหากาพย์รามายณะหรือ“รามเกียรติ์” ทำให้บังเกิดเป็นความศรัทธาใน พระวิษณุ (หรือพระนารายณ์ตามความเชื่อแบบไทย) ด้วยเหตุนี้เองที่ทำ ให้ชาวชวาในอดีตเกิดความเคารพในสัตว์ที่เป็นพาหนะขององศ์พระวิษณุซึ่งก็คือ “ครุฑ” ลักษณะของ “ครุฑ” หรือ “การูด้า” ในแบบอย่างศิลปะชวา มาจากคติความเชื่อตามแบบศาสนาฮินดู มีบันทึกจารึกไว้ว่า ครุฑเป็นราชาแห่งปักษี ผู้ปกครองน่านฟ้านภากาศ รูปร่างของครุฑตามแบบชวาจะมีลักษณะกึ่งมนุษย์กึ่งปักษี มีใบหน้าที่ ดุร้าย ดวงตาโปนโต นัยน์ตาสีแดง มีปากขนาดใหญ่ที่ยาวยื่นและเต็มไปด้วยเขี้ยวที่แหลมคม บนแผ่นหลังมีปีกขนาดใหญ่แผ่สยายกว้างมหึมา ท่วงท่าของครุฑตามแบบศิลปะชวาจึงแลดูดุดันและขึงขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างงานประติมากรรมหรืองานแกะสลักรูปพระวิษณุ ประทับ บนหลังการูด้า (นารายณ์ ทรงครุฑ ) องค์พระวิษณุจะประทับ นั่งคล่อมบนลำคอครุฑ
ซึ่งแตกต่างไปจากแบบประเพณีนิยมของไทยที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์จะประทับยืนบนหลังครุฑ เรียกกันว่า “นารายณ์ทรงสุบรรณ”ครุฑจะปรากฏอยู่ในเทวสถานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นตามคติแบบฮินดู ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ ประติมากรรมรูปพระวิษณุประทับบนหลังการุด้า (นารายณ์ทรงครุฑ) ที่สระน้ำศักดิ์สิทธ์เบลาหัน (Belehan) บนภูเขาเปหนังกุหงัน (Penanggungan) มีอายุเก่าแก่กว่าพันปี
ในประเทศอินโดนีเซียมีเกาะบาหลีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเกาะแห่งครุฑ เพราะจะปรากฏรูปครุฑอยุ่มากมายตาม ศาสนสถานและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ทั่วเกาะบาหลี และที่แตกต่างไปจากแห่งอื่น ๆ ก็คือ ครุฑในบาหลีมักมีแกะสลักประดับไว้บนหัวเสารองรับหลังคา รวมทั้งประดับไว้บนขื่อคานภายในเทวสถาน เพราะมีความเชื่อกันว่า ครุฑจะคอยพิทักษ์ ปกป้องสถานนั้นๆให้ปลอดภัยจากภัยอันตราย ได้มีการสร้างอุทยานมันดาลา การูด้า วิษณุ เคนกานา (Mandala Garuda WisnuKencana) หรือ เรียกกันทั่วไปว่า “การูด้า วิษณุ เคนกานา (Garuda WisnuKencana) หรือ GWK ที่บริเวณอ่าวบูกิตทางตอนใต้ของเกาะบาหลี มีการสร้างประติมากรรมรูปพระวิษณุครึ่งตัวขนาดใหญ่ มีความกว้าง 23 เมตร และบริเวณด้านข้างไม่ไกลนักก็มีการสร้างประติมากรรมรูปครุฑส่วนศีรษะถึงบริเวณอก มีความสูงถึง 15 เมตร
เมื่อดูสถิติการนับถือศาสนาของชาวบาหลีในปี 2010 นั้น จึงทำให้ทราบดังนี้ว่า
ศาสนา | ร้อยละ |
ฮินดู | 83.5% |
อิสลาม | 13.3% |
คริสต์ | 1.7% |
พุทธ | 0.5% |
จึงไม่แปลกใจที่บนเกาะบาหลีนั้นจะมีรูปเคารพ เทวสถาน ของชาวฮินดูอยู่มากมาย