ผ้าปูที่นอน ภาษาบาลีใช้คำว่า ปัจจัตถะระณะ หรือ อ่านแบบไทย ๆ ว่า ปัจจัตถรณ์ เป็นภาษาที่มีมาแต่เดิม ไม่ใช่ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ เป็นผ้าที่พระใช้อธิษฐานสำหรับปูนอนได้
ถ้าเราเคยไปดูพิธภัณฑ์ของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ท่านเคยธุดงค์ในป่า ที่ท่านใช้ชีวิตในป่า บางรูปท่านอาจจะใช้หนังบ้างเป็นเครื่องปูลาดสำหรับปูนอน ผ้าปูนอนจึงจำเป็นต้องใช้ ถ้าผมจำไม่ผิดมีวัตรปฏิบัติบางข้อที่ระบุไว้เลยว่า เมื่อพระภิกษุจะนอนบนเตียงนอนของสงฆ์ต้องใช้ผ้าปูนอนของตนปูเสียก่อน (ไม่มีผ้าปูนอนก็ต้องใช้ผ้าอย่างอื่นของตนปูทับก่อน) ที่ทำอย่างนี้ป้องกันไม่ให้เสนาสนะเดิมของสงฆ์ต้องมีรอยเปื้อนหรือเกิดความเศร้าหมองเพราะเหงื่อผิวกายของตนเอง
ประโยชน์ของผ้าปูนอนพระ
- ป้องกันฝุ่น แมลง สิ่งสกปรกต่าง ๆ ได้
- ป้องกันเตียง พื้นกุฏิ หรือเสนาสนะของสงฆ์ไม่ให้สกปรกแปดเปื้อนได้
- พระสามารถนำติดตัวเวลาไปธุดงค์ อธิษฐานเป็นของใช้ประจำได้
การเลือกผ้าปูนอนถวายพระ
- สี การเลือกสีผ้าปูนอนถวายพระนั้น ควรใช้สีให้เข้ากับสีจีวรของพระแต่เข้มกว่าหน่อย หรือใช้สีแก่นขนุน เหลืองแก่ สีน้ำตาล สีช็อกโกแลต เป็นต้น
- ขนาดกว้างยาว ควรเลือกขนาดที่คนเดียวนอนได้ ไม่ถึง 2 คน กว้างประมาณ 1 – 1.20 น่าจะกำลังดี ไม่ควรเกิน 1.50 เมตร ความยาวไม่ควรเกิน 2 เมตร (ผมไม่มีพระวินัยอ้างอิงนะครับ)
- ความหนา ควรเลือกผ้าปูนอนที่มีความหนากว่าผ้านุ่งปกติ จะได้ป้องกันฝุ่น เวลนาจะได้ไม่หย่นยับ ไม่เจ็บหลัง พับเก็บก็ง่าย แต่ก็อย่าหนามากจนพับเก็บแล้วมีขนาดใหญ่จนนำติดตัวไปไหนไม่ได้
เราควรถวายผ้าปูที่นอนพระในโอกาสใด
- ถวายผ้าปูนอนได้ในทุกโอกาส
- ถวายผ้าปูนอนแก่วัดที่กำลังสร้างใหม่
- ถวายผ้าปูนอนไว้ประจำกุฏิที่สร้างใหม่
- ถวายผ้าปูนอนเป็นบริขารแก่ผู้ที่จะอุปสมบทใหม่
- ถวายผ้าปูนอนประกอบเป็นกองอัฐบริขาร ถวายวัดหรือพระสงฆ์เพื่อทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไป
- ถวายผ้าปูนอนเป็นบริวารกฐิน ผ้าป่า
- ถวายผ้าปูนอน เพื่อเป็นการทำบุญสร้างสมบารมีให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า
- ถวายผ้าปูนอน เพื่อทำบุญสะเดาะเคราะห์ แก้ดวงตก ดวงไม่ดีต่าง ๆ
คำถวายผ้าปูที่นอน
อิมานิ มะยัง ภันเต ปัจจัตถะระณานิ สะปะริวารานิ จาตุททิสัสสะ ภิกขุสังฆัสสะ อาคะตานาคะตัสสะ วะลัญชะนัตถายะ อมสมง อาวาเส โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปัจจัตถะระณานิ สะปะริวารานิ ปะฎิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าปูที่นอน พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหลานี้ ไว้ในอาวาสนี้ เพื่อประโยชน์เป็นเครื่องใช้สอยของพระภิกษุสงฆ์ ผู้อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้วและยังมิได้มา ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับผ้าปูที่นอน พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ ฯ
อานิสงส์ของการถวายผ้าปูที่นอน
กุลบุตรคนหนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถี เขามีจิตใจเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนา ครั้นได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ก็มีศรัทธาอย่างแรงกล้าจึงออกบวชในพระพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติเจริญสมณธรรม ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ต่อมาพระเถระปรารถนาจะเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ จึงเดินทางมาเฝ้าในระหว่างทางได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หลังจากที่ได้อาหารพอประมาณแล้วจึงแสวงหาที่สำหรับทำภัตกิจ
ครั้งนั้นมีอุบาสิกาคนหนึ่ง ครั้นได้เห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใสจึงอาราธนาให้ไปทำภัตกิจที่บ้านของตน นางได้จัดตั่งที่นั่ง และเอาผ้าผืนหนึ่ง และเอาผ้าผืนหนึ่งมาปูถวายเป็นที่นั่งทำภัตกิจ เมื่อพระเถระทำภัตกิจเสร็จเสร็จแล้วนางก็ได้ถวายตั่งและผ้าผืนนั้นแก่พระเถระและตั้งความปรารถาว่า ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายผ้าในครั้งนี้ขอให้บัลลังก์ทองจงเกิดมีแก่ดิฉันในภพหน้าด้วยเทอญ พระเถระจึงโมทนาว่า “ของความปรารถนาของเธอจงสำเร็จ” หลังจากนั้นจงแสดงอานิสงส์แห่งการถวายเตียง ตั่ง อาสนะว่า “บุคคลใดได้ถวายเตียง ตั่ง อาสนะเป็นที่นั่งที่นอน บุคลนั้นจะได้ไปเกิดในตระกูลขัตติยะกษัตริย์บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติและบริวาลเป็นอันมาก” นางอุบาสิกาเมื่อได้ฟังอานิสังคกถาอย่างนั้นยิ่งมีจิตใจเลื่อมใสเป็นทวี จึงได้นำเตียง ตั่ง อาสนะที่เป็นที่นั่งที่นอนต่างๆจำนวนมากตามไปถวายพระเถระ
ต่อมาเมื่ออุบาสกท่านนั้นตายไปแล้ว ได้ไปบังเกิดเสวยทิพยสมบัติในเทวโลกสวรรค์มีชื่อว่า นางนางภัททปีฐทายิกาเทพธิดา มีวิมานทองสูง 12 โยชน์ ท่ามกลางวิมานทองแห่งนั้นได้มีบัลลังก์ทองสำหรับเป็นที่นั่งเกิดสูงได้ 1 โยชน์ มีบริวาล 1000 คน เป็นบริวาล และเมื่อเคลื่อนจากเทวโลกสวรรค์ไปแล้ว นางก็ได้ไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ในมนุษย์โลก
อานิสงส์การถวายผ้าปูที่นอน (ตามความเชื่อผู้เขียน)
- ไม่เป็นโรคที่นอนหลับยาก หลับสบายไร้กังวล
- ไม่เป็นโรคผิวหนังร้ายแรง หรือโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ
- ไปที่ไหนก็ได้รับการตอนรับด้วยดี เหมือนมีคนคอยตอนรับอยู่เสมอ
- มีที่นั่งที่นอนที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือไม่ลำบากด้วยที่อยู่อาศัย
- เมื่อละโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่สุคติ (ถ้าไม่มีกรรมอื่นเข้ามาแทรก)