ผมไม่รู้ว่าห้องอบซาวน่าที่ใช้ในสปา ใช้ตามบ้านมีต้นกำเนิดมาจากชนชาติใด แต่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีใช้มาตั้งสมัยพุทธกาล เรียกว่า ชันตาฆระ หรือ อัคคิสาลา และน่าจะเป็นที่นิยมใช้กันอย่างมากในหมู่พระภิกษุสงฆ์ ชนิดที่ว่ามีกันทุกอาราม เหมือนเวจกุฎี (ห้องส้วม) กุฏิ (ที่อยู่ของพระ) พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติวัตรขึ้นมาโดยเฉพาะเรียกว่า ชันตาฆรวัตร คือ ข้อปฏิบัติที่ใช้ในเรือนไฟ เพื่อให้คณะสงฆ์ได้ออกกำลังกายและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
ชันตาฆรวัตร วัตรปฏิบัติในเรือนไฟ (ห้องอบซาวน่า)
“ภิกษุใดไปสู่เรือนไฟก่อน ถ้ามีเถ้ามาก พึงเทเถ้าทิ้งเสีย ถ้าเรือนไฟรก พึงกวาดเสีย ถ้าชานภายนอกรก พึงกวาดเสีย ถ้าบริเวณซุ้มประูตูศาลาเรือนไฟรก พึงกวาดเสีย พึงบดจุณไว้ พึงแช่ดินเหนียว พึงตักน้ำไว้ในรางน้ำ
เมื่อจะเข้าไปสู่เรือนไฟ พึงเอาดินเหนียวทาหน้า (ดินผสมสมุนไพร ?) ปิดทั้งข้างหน้าข้างหลัง (ปิดประตูหรือช่องลม) แล้วจึงเข้าไปสู่เรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดเสียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะ ภิกษุใหม่ ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงทำบริกรรม (นวด) แก่พระเถระในเรือนไฟ
เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าข้างหลัง (ปิดประตูหรือช่องลม) ออกจากเรือนไฟ ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงทำบริกรรม (นวด) แก่พระเถระ แม้ในน้ำ ไม่พึงอาบน้ำข้างหน้าพระเถระ แม้เหนือน้ำก็ไม่พึงอาบ อาบแล้วเมื่อจะขึ้นพึงให้ทางแก่พระเุถระผู้จะลง (อย่าขวางทางพระผู้เฒ่าที่จะลงอาบ)
ภิกษุใดออกจากเรือนไฟภายหลัง ถ้าเรือนไฟเปรอะเปรื้อน พึงล้างให้สะอาด พึงล้างรางแช่ดิน เก็บตั่งสำหรับเรือนไฟ ดับไฟ ปิดประตู แล้วจึงหลีกไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นวัตรในเรือนไฟของภิกษุทั้งหลาย ซึ่งภิกษุทั้งหลาย พึงประพฤติให้เรียบร้อยในเรือนไฟ.”
จุดกำเนิดชันตาฆระ หรือ ห้องอบซาวน่า
เนื่องจากพระภิกษุได้ฉันอาหารอันประณีตหรือเป็นอาหารที่ปรุงอย่างดีแต่ไม่ได้ออกกำลังกายเท่าที่ควรจึง
ทำให้เกิดโรคอ้วน (ร่างกายอ้วนขึ้น) อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ดังจะเห็นได้จากในสมัยครั้งพุทธกาลว่า “สมัยนั้น ทายกทายิกาในกรุงสาวัตถีจัดตั้งภัตตาหารอันประณีตไว้ตามลำดับ ภิกษุฉันอาหารอัน
ประณีตจนร่างกายอ้วนจึงมีอาพาธมาก ครั้งนั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์มีธุระต้องเดินทางไปกรุงสาวัตถีเห็นภิกษุทั้งหลายมีร่างกายอ้วนมีอาพาธมาก จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคณที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ภิกษุมี
ร่างกายอ้วน มีอาพาธมาก ขอประทานพระวโรกาส พระองค์ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ ด้วยวิธีการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายจักมีอาพาธน้อย”
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำวิธีการสร้างศาลาไฟหรือเรือนไฟแก่พระสาวกเพื่อเป็นการรักษาโรคดังมีใจความว่า “สมัยนั้นภิกษุทั้งหลายทำที่ตั้งเตาในที่ต่าง ๆ ทั่วบริเวณจึงสกปรกภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ทำศาลาไฟไว้ในที่สมควรด้านหนึ่ง”
โรงไฟมีพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”
ดินที่ถมพังทลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ก่อคันกันดินที่ถม
๓ ชนิด คือคันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงยาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตบันได ๓ ชนิด คือบันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตราวสำหรับยึด”
โรงไฟไม่มีบานประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตบานประตู กรอบเช็คหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบนสายยู ไม้หัวลิง ลิ่มกลอน ช่องดาลช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่ศาลาไฟ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์จักเป็นฟันมังกร เขียนลวดล ายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง”
ชันตฆระ หรือห้องอบซาวน่าในสมัยพุทธกาลตั้งอยู่ในที่แยกออกมาต่างหาก ที่น้ำไม่สามารถท่วมได้ ถ้าถมที่ขึ้นสูงต้องมีบันไดและราวบันได ตัวชันตฆระ หรือห้องอบซาวน่าประกอบด้วยห้องที่มีประตูปิดเปิด มีหน้าต่างและมีเพดานเพื่อเก็บความร้อนให้อบอยู่แต่ภายในห้อง มีเก้าอี้และตั่งวางไว้รอบ ๆ กองไฟ มีหม้อน้ำหรือตุ่มน้ำสำหรับตักน้ำรดตามร่างกาย มีหินที่ถูกไฟเผาจนร้อน มีราวเก็บจีวร มีลำรางสำหรับปล่อยน้ำออกมาและมีท่อสาหรับให้ไอพ่นออกมาด้วย
ภิกษุเมื่อเข้าใช้บริการอบซาวน่าจะได้รับอนุญาตให้เปลือยกายในห้องอบซาวน่าได้ อนุญาตให้นวดพระเถระได้ ไม่นั่งกีดขวางกัน กรรมวิธีปกติในการอบซาวนาจะมีการนำโคลนมาทาตามร่างกายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โคลนที่ทาลอกผิวเก่าให้ออกมา จากนั้นก็จะใช้มือถูและนวดตามอวัยวะต่างๆจนกระทั่งโคลนที่นำมาทาตามตัวถูกชำระออกไปตามเงื่อที่ไหลออกมา
ชันตฆระ หรือห้องอบซาวน่าในยุคปัจจุบัน
ชันตฆระ หรือห้องอบซาวน่าสำหรับพระสงฆ์ในยุคปัจจุบันแยกเป็นสองส่วน คือส่วนที่หนึ่งเป็นห้องอบซึ่งมีประตูปิดมิดชิด มีเพดานและฝากันไม่ให้ไอน้ำออกไป มีตั่งหรือเก้าอี้ไม้สำหรับนั่ง มีตุ่มน้ำหรือท่อน้ำอยู่ข้างในหรือข้างนอกหน้าประตู ส่วนที่สองคือตัวหม้อต้มสมุนไพร ใช้ฟืนหรีอถ่านเป็นเชื้อเพลิง มีท่อสำหรับส่งไอน้ำร้อนเข้าสู่ตัวห้องอบซาวน่า
สมุนไพรที่ใช้อบในซาวน่าของพระ
สำหรับสมุนไพรที่ใช้ในชันตฆระหรือห้องอบซาวน่าของพระนั้นไม่ทราบตัวอย่างระบุไว้ในสมัยพุทธกาลหรือในสมัยนั้นอาจจะเน้นความร้อนที่เกิดจากไฟหรือไอน้ำเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้นิยมนำพืชสมุนไพรที่เกี่ยวกับการรักษาโรค การบำบัดโรคมาใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้น ๆ ที่จะหาได้ เป็นต้นว่า มะกรูด บอระเพ็ด ตะไคร้หอม ใบหนาด ใบเปล้า
ประโยชน์ของการอบซาวน่า
- ไม่เป็นโรคอ้วน
- มีโรคน้อย
- สุขภาพร่างแข็งแรง
- หัวใจแข็งแรง
- ดีต่อกล้ามเนื้อ
- เพิ่มภูมิต้านทาน
- ขับไล่สารพิษ สารตกค้างในร่างกาย
- มีผิวพรรณดี
- ลดความเครียด
- นอนหลับง่าย (ไม่เป็นโรคนอนหลับยาก)
ห้องอบซาวน่าจากวัดสู่บ้าน และนานาประเทศ
พระภิกษุจากประเทศอินเดียได้นำการอบซาวน่าไปเผยแพร่ที่ประเทศจีนก่อนจนเป็นที่นิยม จากประเทศจีนสู่ประเทศเกาหลีและประเทศญี่ปุ่น เซ็นโจ ซานโซ (ระหว่าง ค.ศ. 502-664) ในสมุดบันทึกชื่อ Saito Seiiki Diary ได้บันทึกเกี่ยวกับวัดพระพุทธศาสนาในประเทศจีนว่า มีการอบซาวน่าไว้ให้บริการแก่สาธารณชนห้องชาวน่าเหล่านี้ให้บริการยารักษาโรคและอาหารแก่คนยากจนและคนเจ็บป่วยด้วย
เมื่อได้มีการเผยแผ่ศาสนาพุทธเข้าไปในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างยุคนาราก็ได้มีวัดขนาดใหญ่หลายวัดมีซาวนาในแบบที่ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นห้องอบซาวน่าอย่างในสมัยใหม่
ในตอนแรก ๆ นั้นสถานที่อาบน้ำในแบบอบซาวน่าเหล่านี้ส่วนใหญ่มีพระสงฆ์ในพระพุทธศษสนาเท่านั้นที่ใช้ จะมีบางคราวเท่านั้นที่เปิดให้คนอื่น ๆ ได้ใช้บริการ
มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า พระมเหสีของจักรพรรดิพระองค์หนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ทรงอนุญาตให้คนป่วยได้มีโอกาสอาบน้ำแบบซาวน่าได้เดือนละ 6 วันและแม้แต่พระองค์เองก็ได้ลงอาบด้วยเช่นกัน
นับตั้งแต่รัชสมัยกามาซูกะ (ค.ศ.1185 1333) มีหลักปฏิบัติโดยทั่วไปให้ทำที่อาบน้ำแบบซาวน่าในวัดต่าง ๆไว้สำหรับผู้เจ็บไข้ได้ป่วยได้อาบ
เมื่อห้องอบซาวน่าและที่อาบน้ำสาธารณะได้ถูกสร้างนอกวัดแล้วแต่ก็ยังถูกสร้างในรูปแบบที่เคยสร้างอยู่ในวัดเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เมื่อบ้านแบบญี่ปุ่นถูกออกแบบโดยให้มีห้องน้ำสมัยใหม่แล้ว ปรากฏว่าห้องอาบน้ำซาวน่าและสถานที่อาบน้ำสาธารณะแบบซาวน่าได้ลดและความนิยมลงไป. แต่ห้องอบซาวน่าก็มาปรากฏที่เราได้เห็นในรูปแบบที่ใช้ในสปา หรือในแบบเครื่องอบซาวน่าที่ใช้กันในบ้าน
บางคนไปเห็นพระใช้ห้องอบซาวน่าในวัดแล้วตำหนิติเตียนว่าพระใช้หรู เลียนแบบสปาหรือเลียนแบบชาวบ้าน แต่หารู้ไม่ว่าพระใช้มาเกือบสามพันปีแล้ว (สองพันหกร้อยกว่าปีตามอายุพระพุทธศาสนา) ชาวบ้านต่างหากที่น่าจะเลียนแบบพระหรือนำไปใช้จนแพร่หลายจนยึดถือว่าตนเองเป็นต้นกำเนิด (ผมก็ไม่รู้ว่าพระเป็นต้นกำเนิดหรือไม่ เพราะทราบว่าพวกกรีกก็เคยใช้ แต่ในสังคมที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าไปน่าจะรู้จักห้องอบซาวน่าจากพระหรือจากวัด)
ขอบคุณที่มา
- การศึกษาวิเคราะห์หลักชันตาฆรวัตรในพระพุทธศาสนาเถรวาท กับการอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน โดย พระบุญร่วม ปภากโร (ผ่านทอง)
- ห้องอบซาวน่า ได้ต้นแบบมาจาก “เรือนไฟ” ในสมัยพุทธกาล