เชื้อไวรัสอีโบลาอันนำพาโรคอีโบลาจากคนมาสู่คนในขณะนี้ นับเป็นเชื้อมรณะสุดฮิตที่ไม่ว่าใครเป็นต้องหวาดกลัวกันแทบทั้งสิ้น และผู้คนทั่วโลกก็ล้วนพากันตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไม่น้อย ดังนั้น วันนี้เราจึงควรทำความรู้จักเชื้อไวรัสอีโบลากันไว้เพื่อจะได้เตรียมรับมือป้องกันได้ทันการณ์นั่นเองค่ะ
ทำความรู้จักเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola)
เชื้อไวรัสอีโบลาเริ่มเกิดการระบาดขึ้นครั้งแรกในปี 2519 ของประเทศซาร์อีและซูดาน สำหรับปัจจุบันก็คือ ประเทศคองโกนั่นเอง โดยเชื้อดังกล่าวแบ่งออกได้ 5 สายพันธุ์ แต่ละชื่อสายพันธุ์นั้นถูกตั้งขึ้นจากสถานที่ที่มีการแพร่ระบาด ได้แก่ อีโบลา-ซาร์อี (Ebola-Zaire),อีโบลา-ซูดาน (Ebola-Sudan),อีโบลา-โกตดิวัวร์ (Ebola-Côte d’Ivoire),อีโบลา-เรสตัน (Ebola-Reston) และอีโบลา-บันดิบูเกียว (Ebola-Bundibugyo) โดยขณะนี้ เชื้อไวรัสอีโบลา-ซาร์อีกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักทางแอฟริกาตะวันตก ทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อได้สูงถึง 80-90% เลยทีเดียว
การแพร่เชื้อไวรัสอีโบลา
สำหรับการแพร่เชื้อไวรัสอีโบลานั้นสามารถแพร่เชื้อได้จากผู้ป่วย โดยผ่านการสัมผัสสารคัดหลังประเภทต่างๆ ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ เลือด ปัสสาวะและน้ำเชื้ออสุจิ รวมถึงสิ่งรอบตัวต่างๆ เช่น ราวจับ ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์และการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อ
อาการของโรคอีโบลา
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะมีอาการต่างๆ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดข้อ เลือดออกภายในและภายนอกร่างกาย และอาจมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เจ็บคอ กลืนอาหารยาก เจ็บหน้าอก ตาแดง สะอึก ไอ ผื่นขึ้นและมีอาการเลือดออกทางหู ตา จมูกและปาก โดยอาการเหล่านี้บ่งชี้ชัดเจนแน่นอนว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาแล้ว หลังจากร่างกายติดเชื้อเป็นเวลาประมาณ 8-10 วัน อาการของโรคจะเริ่มปรากฏชัดเจนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแท้จริงแล้ว เชื้อไวรัสอีโบลาจะมีระยะของการฟักตัวประมาณ 2-21 วันก็ตาม เพราะฉะนั้น หากเราหมั่นรับมือสังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างทันท่วงที ก็ย่อมยับยั้งไม่ให้อาการลุกลามหนักถึงขั้นรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้แน่นอนค่ะ
วิธีป้องกันรักษาโรคอีโบลา สำหรับเชื้อไวรัสอีโบลาในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการแพร่ระบาด และยังไม่มีวิธีรักษารวมถึงวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโดยตรง ผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาไปตามอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยแพทย์จะคอยดูแลรักษาระดับของเหลวภายในร่างกายและอิเล็กโตรไลท์ให้มีความสมดุล ควบคุมความดันโลหิตและดูแลระดับออกซิเจนในเลือด เป็นต้น และแม้ว่าประเทศไทยยังมีความเสี่ยงต่ำในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาก็ตาม ทว่าหากขณะเดียวกัน เราก็ไม่ควรไว้วางใจและชะล่าใจเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น เพื่อการมีสุขภาพแข็งแรง ห่างจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาและเชื้อไวรัสร้ายแรงต่างๆ เราควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดีกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีกว่าค่ะ เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันโรคแข็งแกร่ง โอกาสในการติดเชื้อไวรัสต่างๆ ก็ย่อมลดน้อยลงตามหรือมีโอกาสต่ำที่จะเกิดอาการป่วยรุนแรงได้อย่างแน่นอน