พระเนื้อดิน
เมื่อกล่าวถึงพระเนื้อดินเชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักกันอย่างแน่นอน พระเนื้อดินถือว่าเป็นพระที่มีอายุมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะว่าดินเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ดินเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งและสิ่งมีชีวิตหลาอย่าง นอกจากนั้นตามความเชื่อทางศาสนาดินยังมีเทพีที่ทรงอิทธิฤทธิ์อย่างพระแม่ธรณีคอยปกป้องคุ้มครอง ดังนั้นดินจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงจึงเหมาะสำหรับนำมาทำเป็นพระสำหรับเคารพสักการะนั่นเอง
ความเป็นมา เริ่มสร้างสมัยไหน
การสร้างพระเนื้อดินไม่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเริ่มสร้างตั้งแต่สมัยใด ทว่าได้มีการสันนิษฐานว่าการสร้างพระเนื้อดินนั้นเป็นการสร้างพระเครื่องในรุ่นแรกหลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน เพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์และรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ซึ่งที่แรกที่ทำการสร้างพระเนื้อดินคือช่วงตอนต้นของพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย
สำหรับการสร้างพระเครื่องในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าเข้ามาในสมัยทวาราวดี โดยเข้ามาพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามความเชื่อที่ว่าพระเครื่องเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งรูปแบบของพระเครื่องในยุคแรก ๆ จะเป็นการสร้างจากดินที่เป็นวัสดุหาง่ายเป็นส่วนใหญ่ สำหรับรูปแบบของพระเครื่องจะมีลักษณะและรูปแบบแตกต่างกันไปตามความเชื่อและศิลปะของแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้นแล้วยังมีความเชื่อว่าหากผู้ใดได้ทำการสร้างพระเครื่องเนื้อดินแล้ว จะได้บรรลุเป็นพระโพธิ์สัตว์อีกด้วย
ซึ่งการสร้างพระเครื่องในเมืองไทยมีการเฟื้องฟูมากที่สุดในสมัยอยุธยา โดยคนในยุคนั้นเชื่อว่าพระเครื่องเมื่อนำมาติดตัวจะสร้างความเป็นสิริมงคลจากความศักดิ์ของวัตถุที่นำมาสร้างและการปลุกเสกของครูบาอาจารย์ และพระเครื่องยังช่วยดลบันดาลให้ชีวิตของผู้ที่เคารพบูชามีความเจริญ แคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งในยุคนั้นนอกจากพระเนื้อดินที่ได้รับความนิยมทำการสร้างอย่างกว้างขวางแล้ว ยังมีการสร้างเครื่องรางแบบเก่า เช่น ผ้ายันต์ที่ใช้ผูกแขนหรือคล้องคอที่เรียกว่าผ้าเจียด ตะกรุด เป็นต้น ซึ่งต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้มีรูปแบบความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคนในสมัยรัตโกสินทร์ตอนต้นได้รับอิทธิพลความเชื่อจากชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขาย ที่มิได้มองว่าพระเครื่องเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องรางของขลังที่ช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จในด้าน ๆ ต่าง ขึ้นอยู่กับพุทธคุณที่ทำการปลุกเสกนั่นเอง
กรรมวิธีการสร้าง
พระเนื้อดินมีกรรมวิธีการสร้างที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ซึ่งคุณค่าทางจิตใจ ความมานะและความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะสร้างพระ ถึงแม้จะใช้ดินในการสร้างที่สามารถหาได้ง่าย เพราะใช่ว่าดินทุกอย่างจะสามารถนำมาสร้างพระเนื้อดินได้ แต่ว่าดินที่จะนำมาสร้างพระเนื้อดินต้องได้รับการคัดเลือกจากสถานที่ศักดิ์ ผู้สร้างต้องทำพิธีบวงสรวงเพื่อขอบารมีของแม่พระธรณี เจ้าที่เจ้าทางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตทำหน้าที่ปกป้องรักษาอยู่ ณ ที่นั้นอย่างถูกต้องตามพิธีกรรมและความเชื่อ เพื่อให้ดินที่มีบารมีอภินิหาร ที่เมื่อนำมาสร้างพระเครื่องแล้ว พระเนื้อดินที่ได้จะมีความศักดิ์และเต็มด้วยพุทธคุณอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งดินที่ใช้ในการสร้างพระเนื้อดินมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ
1.ดินเนื้อละเอียด
ดินเนื้อละเอียดที่นำมาสร้างพระเนื้อดินที่นิยมใช้จะเป็นดินที่มีความละเอียดสูงมาก โดยแหล่งที่มาของดินละเอียดมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบด้วยกัน คือ ดินละเอียดตามธรรมชิตที่อยู่ในชั้นดินลึก ๆ ซึ่งดินชนิดนี้จะต้องขุดลงไปค่อนข้างลึกถึงจะได้ดินที่มีเนื้อละเอียดตามธรรมชาติ โดยดินเนื้อละเอียดตามธรรมชาตินิยมนำมาใช้ในการสร้างพระเนื้อดินมากที่สุด กับดินกรองหรือดินละเอียดที่เกิดจากการนำดินหยาบนำมากรองด้วยตัวกรองที่มีความละเอียดสูง ทำให้ได้เนื้อดินที่มีความละเอียด ซึ่งดินกรองนี้ก็ไม่นิยมนำมาสร้างพระเนื้อดินเท่าใดนัก เพราะเนื้อดินที่ได้เมื่อนำมาสร้างพระจะได้พระที่มีเนื้อดินที่ไม่เสมอ มีรอยระแหงหรือมีลักษณะเป็นผิวคล้ายกับการเคลือบผิวนั่นเอง
2. เนื้อดินหยาบ
ดินเนื้อหยาบเป็นดินที่อยู่บริเวณพื้นผิวดินหรือดินที่เกิดการย่อยสลายของหิน วัชพืชที่ตกลงบนพื้นดินทำให้เนื้อดินมีความหยาบกระด้าง เมื่อนำมาสร้างพระจะทำให้เนื้อพระมีช่องว่างที่น้ำซึมผ่านได้มาก แต่ก็เป็นการสร้างพระเนื้อดินที่สะดวก เพราะไม่ต้องขุดดินลงไปก็สามารถนำดินมาสร้างพระได้แล้ว
การสร้างพระเนื้อดินนอกจากจะใช้ดินเป็นวัสดุหลักในการสร้างเนื้อพระแล้ว บางครั้งยังมีการนำของศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเป็นส่วนผสมกับดินด้วย เช่น เนื้อว่าน เส้นผมของครูบาอาจารย์ กระดูก เป็นต้น
เมื่อเตรียมดินและส่วนผสมสำหรับสร้างพระเนื้อดินเสร็จแล้ว ผู้สร้างจะทำการกดดินลงในพิมพ์พระ โดยจะทำการอัดลงไปให้แน่นและนำออกมาทำให้แห้ง ซึ่งการทำให้พระเนื้อดินแห้งมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ
1.การเผา
การเผาพระเนื้อดินก็เหมือนกับการเผาเครื่องปั้นดินเผาทั่วไป ที่ใช้ความร้อนในการไล่ความชื้นที่อยู่ในดินให้ออกมาจนหมด ส่งผลให้ได้พระเนื้อดินที่มีความคงตัวและมีความแข็งแรงสูงมาก นอกจากนี้การเผาพระเนื้อดินยังเป็นเอกลักษณ์ให้กับพระเนื้อดินแต่ละที่อีกด้วน เนื่องจากความร้อนที่ทำการเผาพระที่อุณหภูมิต่างกันจะส่งผลให้สีเนื้อพระที่ออกมาต่างกันนั่นเอง
2.การผึ่ง
การผึ่งพระคือการสร้างพระเนื้อดินที่ทำให้เนื้อดินแห้งด้วยการตากแดดหรือผึ่งแดดเพื่อไล่ความชื้นออกจากเนื้อดิน ซึ่งเราจะเรียกพระเนื้อดินที่สร้างด้วยการผึ่งแดดหรือตากแดดว่า “พระดินดิบ” พระดินดิบเป็นพระเนื้อดินที่มีความแข็งแรงและการคงตัวที่น้อยกว่าพระเนื้อดินที่ผ่านการเผา และถ้าพระดินดิบแช่หรือสัมผัสกับน้ำเป็นเวลานาน เนื้อดินที่นำมาสร้างพระจะสลายไปกับน้ำได้ ดังนั้นพระดินดิบจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษถึงจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานได้
พระเนื้อดินที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก
พระเนื้อดินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ
1.พระรอดเป็นพระเนื้อดินที่สร้างขึ้นในสมัยทวาราวดีตอนปลาย (หริภุญชัย) ถือเป็นพระเนื้อดินที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุด โดยลุ่ยอดนิยม คือ พระรอด กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน
2.พระกำแพงซุ้มกอเป็นพระเนื้อดินที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยรุ่นยอดนิยม คือ พระกำแพงซุ้มกอ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งพระรุ่นนี้ในปัจจุบันเป็นพระที่พบได้น้อยมาก
3.พระนางพญาเป็นพระเนื้อดินที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา โดยรุ่นยอดนิยม คือ พระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก
4.พระผงสุพรรณเป็นพระเนื้อดินที่สร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง โดยรุ่นยอดนิยม คือ พระผงสุพรรณ วัดศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี
พุทธคุณพระเนื้อดิน
พระพุทธคุณของพระเนื้อดินมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้สร้างที่สร้างพระเครื่องรุ่นนั้นออกมา ทว่าพระพุทธคุณของพระเนื้อดินส่วนมากจะเป็นของเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี ฟันแทง ยิงไม่เข้า โชคลาภค้าขายรุ่งเรืองเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากดินมีพระแม่ธรณีคอยปกปักษ์รักษา ดังนั้นเมื่อนำดินมาสร้างเป็นพระเครื่องย่อมมีความหมายของความอุดมสมบูรณ์ การมีชีวิตนั่นเอง
ข้อควรระวังหรือข้อปฏิบัติ
พระเนื้อดินเป็นพระที่สร้างจากดิน ซึ่งแตกหักได้ง่าย ดังนั้นจึงควรระวังห้ามมิให้พระตกจากที่สูงหรือได้รับแรงกระแทกที่รุนแรง เพราะจะทำให้องค์พระแตกหักเสียหายได้ และไม่ควรสัมผัสกับความชื้นหรือน้ำเป็นเวลานาน เพราะทำให้เนื้อพระเกิดการสึกหรอได้ โดยเฉพาะพระดินดิบที่ไม่ได้ผ่านความร้อนในการทำให้แห้ง หากสัมผัสกับน้ำหรือความชื้นเป็นระยะเวลานาน เนื้อดินจะเกิดสลายกลายเป็นดินเหลว ทำให้เสียรูปพระได้ พระเนื้อดินถือเป็นพระที่มีความเก่าแก่ที่สุดและมีคุณค่าอยู่หลายรุ่นด้วยกัน โดยเฉพาะพระกรุเก่าที่ส่วนมากจะเป็นพระเนื้อดินล้วนแล้วแต่มีคุณค่าต่อพระพุทธศาสนาและผู้สร้างทุกคน