สำหรับพระกริ่งญาณวโร รุ่นสร้างหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ปี 2539 องค์นี้ ผมไม่ค่อยทราบประวัติเท่าไหร่นัก ได้เป็นของขวัญจากพี่สาวคนหนึ่งซึ่งเธอเป็นชาว อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ได้มาพร้อมกล่องแบบบนี้ครับ
ด้านบนกล่องเขียนว่า “ญาณวโร” ซึ่งเป็นฉายา หลวงปู่มา ตามด้วยคำว่า ” รุ่นสร้างหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ ” เป็นชื่อรุ่นของพระกริ่ง ซึ่งบ่งบอกถึงการสร้างพระกริ่งญาณวโรนี้อย่างชัดเจนว่าสร้างเพื่อจุดประสงค์อันใด
ส่วนล่างของกล่องมีคำว่า ” โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ปี 2539″ เข้าใจเป็นชื่อเจ้าภาพในการจัดสร้างพระกริ่งญาณวโรรุ่นนี้ ระบุชื่อสถานบัน สถานที่ ปี พ.ศ. ผมจึงเข้าใจว่าน่าจะเป็นพระกริ่งญาณวโรอีกรุ่นหนึ่งที่มีเจตนาในการสร้างชัดเจน ระบุชื่อเจ้าภาพในการจัดสร้าง พร้อมระบุว่าอยู่ที่ไหน สร้างเมื่อไหร่ ทำให้คิดว่าต้องเป็นพระกริ่งญาณวโรที่สร้างออกมาอย่างมีพิธีการจัดสร้างอย่างถูกต้อง น่าเก็บไว้บูชาอีกรุ่นหนึ่ง
ในส่วนขององค์พระกริ่งญาณวโรรุ่นนี้ ด้านหน้าตรงผ้าทิพย์มีคำว่า “มา” ส่วนด้านหลังของพระกริ่งมีคำว่า “ญาณวโร” ใต้ฐานมีตัง อุ ปิดกริ่งไว้
หลวงปู่มา เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะในจังหวัดร้อยเอ็ดรวมทั้งภาคอีสานทั้งหมด
ด้วยเมตตาคุณของท่านเป็นที่ปรากฎโดยทั่วไป จึงมีหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไปต่างหลั่งไหลเข้ามาขอความเมตตาจากท่านอยู่ไม่ขาดสาย ซึ่งท่านเองก็ได้บริจาคและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ชื่อของหลวงปู่มาจึงมักปรากฏอยู่ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นต้นว่า โรงเรียน โรงพยาบาล
นอกจากนั้นแล้ว ชีวิตของท่านที่เต็มไปด้วยการอุทิศตนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชน ยังนำความเจริญก้าวหน้าที่ไม่ขัดแย้งกับการดำเนินชีวิตตามหลักพุทธธรรมมอบให้กับพุทธศาสนิกชนและชุมชนต่าง ๆ ในภาคอีสาน จึงทำให้ประชาชนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง มีการประกอบสัมมาอาชีพอย่างสุจริต มีความเป็นอยู่ไม่ติดขัดมากนัก
หลวงปู่มาท่านยังเป็นพระนักทำงานที่เอาจริงจัง ทำจริง อะไรที่เกิดประโยชน์ก่อให้เกิดความสุขเจริญก้าวหน้าทั้งฝ่ายฆราวาสและฝ่ายพระสงฆ์ ท่านจะทำอย่างไม่ลังเล รีบเร่งทำอย่างรวดเร็ว ท่านจึงเป็นที่เคารพรักนับถือเป็นอย่างมากทั้งจากคฤหัสถ์และบรรพชิต