เป็นเรื่องเล่าขำ ๆ นะครับ ไม่ว่ากันนะครับหากจะนำมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น เรื่องของเรื่องก็คือผมได้ติดตามประมูลพระเหมาแบบบ้าน ๆ จากผู้ที่ตระเวนเหมาพระจากบ้าน เหมาพระจากบนหิ้ง ประมาณใครโทรติดต่อมาที่เขา เขาก็จะรีบไปเหมามา แล้วก็นำมาแบ่งประมูลให้แก่สมาชิก
ซึ่งก็เป็นเรื่องดีนะครับ เป็นการกระจายพระเครื่องที่อยู่บนหิ้งให้ออกมาสู่ที่ต่าง ๆ บางองค์ได้ไปเที่ยวต่างประเทศก็มี ได้ไปจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ดีกว่ากระจุกอยู่บนหิ้งในบ้านนานไปอาจจะสูญหายไปก็ได้ อีกอย่างเป็นการสร้างรายได้ให้กับอีกหลายฝ่าย
สร้างรายได้ให้กับเจ้าของหิ้งพระ บางคนมีพระอยู่บนหิ้ง เก็บไว้ในกล่องเก่าสมัยพ่อแม่ปู่ย่าตายายยังไม่รู้เลยว่าพระหรือเครื่องรางอยู่ในกล่องหลังตู้มีราคาหลักหมื่นหลักแสน ยิ่งยุคนี้เศรษฐกิจไม่ดี อะไรที่จะเปลี่ยนมาเป็นทุนทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายให้กับบ้านก็เปลี่ยนเถอะครับ ของทุกอย่างบนโลกนี้ เราต้องทิ้งไว้บนโลกนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นหากเปลี่ยนมาเพื่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็นำออกมาใช้เถอะ
สร้างรายได้ให้กับคนที่รับเหมาพระเก่าบนหิ้ง คนที่ตะเวนรับเหมาพระจากบนหิ้ง บนหลังตู้ ในหีบเก่า ๆ ตามบ้านเรือนคน เขาก็ไม่ได้เหมามาเก็บไว้บนหิ้งต่อหรอกครับ เขาไม่ได้เหมามาเพื่อบูชาต่อ แต่เขาเหมามาเพื่อออกต่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว บางคนมีอาชีพเหมาพระตามบ้านเป็นอาชีพหลักเลยนะครับ
เป็นการสร้างรายได้ให้กับลูกทีมหรือสมาชิกที่ติดตามการประมูลพระเหมา หมายความว่าผู้ที่ไปซื้อพระเหมาบนหิ้งของชาวบ้านมาแล้ว ก็จะนำมาลงประมูลต่อใน Facebook โดยมากพวกนี้จะลงประมูลแบบไลฟ์สดครับ จะมีสมาชิกที่คอยติดตามตลอด และสมาชิกผู้ที่ประมูลได้พระไป ก็มีอยู่หลายประเภท แต่ส่วนมากผมคิดว่าคงประมูลเผื่อฟลุ๊คและหวังนำไปออกต่อเช่นกันครับ เป็นการหมุนเวียนกันไป
กล่าวถึงกลุ่มคนผู้ที่ตระเวนเหมาพระมา ผมแบ่งคนกลุ่มออกเป็นหลายประเภทนะครับ
- ประเภทที่ 1 เป็นคนมีความรู้เรื่องพระเครื่องรู้พระแท้พระเก๊ รู้ราคาพระ มีจรรยาบรรณ และจะคัดเลือกเฉพาะพระที่แท้นำมาให้สมาชิกประมูล
- ประเภทที่ 2 ไม่รู้ ไม่สนใจพระแท้ไม่แท้ ไม่สนใจว่าพระที่เหมาได้มาแต่ละองค์มาราคามากน้อยแค่ไหน ไม่ได้แยกประเภทพระ ได้มาอย่างไร ก็ลงประมูลหรือลงขายอย่างนั้น
- ประเภทที่ 3 เป็นคนมีความรู้เรื่องพระเครื่อง รู้ว่าองค์ไหนเป็นพระแท้ องค์ไหนเป็นพระเก๊ รู้ราคาพระ แต่จะคัดพระแท้ออกขายอีกตลาดหนึ่งและในราคาพระแท้ ส่วนพระไม่มีราคาหรือพระก้ำกึ่ง พระเก๊บ้างเขาก็นำมาให้ประมูลแบบพระเก่า พระหิ้ง พระเหมา พระบ้าน ๆ (อย่าว่าผมนะครับ แต่ประเภทนี้ก็มีแน่นอน)
- ประเภทที่ 4 ไม่ได้ไปเหมาพระบ้านที่ไหนหรอกครับ อาจจะไปเดินที่สนามพระแล้วเห็นเขาขายพระที่อยู่ในกล่องคี๊กกี้เก่า ๆ บ้าง กล่องไม้เก่าบ้าง หรือเป็นพระเครื่อง เครื่องราง ลูกอมที่ถูกห่อด้วยผ้ายันต์เก่า ๆ คนขายบอกว่าเป็นพระบ้าน คนประเภทไม่สนใจเก๊แท้ แต่คิดว่าน่าจะซื้อมาขายต่อได้
- ประเภทที่ 5 คล้าย ๆ กับประเภทที่ 4 แต่ไปเดินหาพระเป็นองค์ ๆ มา (ผมไม่ได้บอกว่าเก๊นะ) นำมาใส่กล่องเก่า ๆ เอง แล้วมาบอกว่าเป็นพระบ้าน พระเก่า พระหิ้ง
- ประเภทที่ 6 นำพระที่ตนมีอยู่ ที่ตนสะสมมา หรือเป็นพระที่พระให้มา ได้จากวัด ได้จากเพื่อน ได้จากญาติ แล้วนำประมูล หรือขายต่อ (ผมไม่ได้บอกว่าพระไม่ดีหรือพระเก๊นะครับ เพราะผมเองก็มีพระแบบนี้เยอะ เกิดจากการสะสมมา และผมก็นำลงขายเช่นกัน แต่ผมจะคัดเลือกก่อน)
จริง ๆ อาจจะมีหลายประเภทกว่านี้นะครับ แต่ผมมีเวลาเขียนน้อย นึกได้แค่นี้ ประเภทที่ 1 ถือว่าเป็นประเภทที่ดีอันดับหนึ่ง มีการแยกแยะพระ มีจรรยาบรรณ รับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อสมาชิกที่ประมูลไป มีการรับประกันให้ด้วย ประเภทที่ 2 ตาดีได้ ตาร้ายเสีย แล้วแต่ดวงคนประมูลหรือคนซื้อ ส่วนประเภทที่ 3 ก็คิดเอาเอง ตาดีได้ ตาร้ายเสียเหมือนกัน
พระบ้าน พระกล่องเก่า เหมาหิ้ง
บางครั้งผมก็แปลกใจว่า (จากที่ผมตาร้ายประมูลมาครับ) ทำไมพระบ้าน ๆ พระหิ้ง ๆ พระที่คนเหมาพระอ้างว่าอยู่ในชนบทลึก ๆ เจ้าของบ้านร้าง เก็บพระมานาน จึงมีพระกล่องที่เป็นพระสนามด้วยมากมาย โดยมากพระเหล่านี้จะอยู่ในกล่องคุ๊กกี้เก่า ๆ หรือไม่งั้นก็จะเป็นพระเครื่อง เครื่องราง ลูกอมนับสิบ ๆ ลูกถูกห่อด้วยผ้ายันต์เก่า ๆ (เหมือนสูตรสำเร็จเลย) บางทีผมก็อดสงสัยไม่ได้ เจ้าของบ้านไปเดินซื้อพระมา หรือนำมาพระจากที่ต่าง ๆ มาใส่กล่องเก่า แล้วออกมาขายตามตลาดนัดบ้าง หาคนมาซื้อบ้าง แล้วบอกว่าเป็นพระรุ่นคุณปู่หรือเปล่า (บางคนอาจจะคิดในใจว่า คุณต้องดูพระเป็นสิ ดูพระเป็นหรือไม่เป็นอีกประเด็นครับ แต่ผมจะบอกว่า หรือมันมีวิธีทำพระบ้าน พระหิ้ง พระเก่าเก็บแบบง่าย ๆ เพราะวิชานี้ผมไม่รู้ ไม่เคยทำ ไม่เคยศึกษามาครับ)
บทความนี้ไม่ได้มีเจตนากระทระทั่งใคร หรือคนกลุ่มใดนะครับ เขียนให้รู้ว่าน่าจะมีแบบนี้ และผมเองก็ยังนิยมประมูลพระแบบบ้าน ๆ อีกเหมือนเดิม มันได้ลุ้นดีกับคำว่า “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย”