
กิ้งก่า หรือภาษาบ้านผมเรียกว่ากะปอม เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะหน้าหนาวในเวลาเช้า เจ้ากะปอมมักจะออกมารับแดดอุ่น ๆ อยู่ริมรั้วบ้านข้างทาง หรือตามต้นไม้ในที่ที่แสงแดดส่องถึง แล้วผงกศีรษะต้อนรับเราอยู่
กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่มีมานานหลายล้านปี และเข้าใจว่าไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างหรือพฤติกรรมมานานแล้ว จึงเรื่องเล่าของเจ้ากิ้งกานี้ในมโหสถชาดก ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดขึ้นในสมัยไหน ซึ่งเรื่องมีประมาณอยู่ว่า
พระราชาพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราชได้เสด็จประพาสพระราชอุทยานพร้อมด้วยมโหสถบัณฑิต ครั้งนั้นได้มีกิ้งก่าตัวหนึ่งเมื่อเห็นพระราชาและมโหสถก็ไต่ลงจากซุ้มประตูพระราชอุทยานแล้วทำท่าหมอบกราบพระราชา
เมื่อพระราชาได้เห็นดังนั้นแล้วจึงได้ตรัสถามมโหสถบัณฑิตว่า เจ้ากิ้งก่ามันทำอะไร มโหสถบัณฑิตจึงได้ทูลว่า กิ้งก่าตัวนี้ถวายบังคมต่อพระราชา
พระเจ้าวิเทหราชทราบเช่นนั้นแล้วมีความดำริว่า กิ้งก่าตัวนี้แสนรู้ยิ่งนัก จึงได้ตรัสว่าเราควรจะให้สิ่งใดเป็นเครื่องตอบแทนมัน มโหสถบัณฑิตจึงได้แนะนำให้พระองค์พระราชทานทรัพย์เพื่อใช้เป็นค่าอาหารให้มันกิน พระราชาจึงรับสั่งให้มอบทองครึ่งมาสก (หนักประมาณหนึ่งหรือสองเม็ดข้าวเปลือก) แก่ราชบุรุษที่เฝ้าพระราชอุทยานนั้น เพื่อใช้สำหรับซื้ออาหารมาให้กิ้งก่าตัวนั้นมันกินทุกวัน เมื่อเจ้ากิ้งก่ามีอาหารกินทุกวัน ก็ยังทำความเคารพพระราชาทุกครั้งที่เสด็จมา
ต่อมาวันหนึ่ง ราชบุรุษนั้นไม่สามารถหาซื้อเนื้อให้กิ้งก่านั้นกินได้ เขาจึงได้นำทองนั้นผูกไว้ที่คอของกิ้งก่านั้นแทน
มีกิ้งก่านั้นได้ทองที่สวมคอแล้ว คิดว่าตนเองมีทรัพย์คือทองคำสวยงามห้อยที่คอเหมือนพระราชาแล้ว ก็คิดว่าตนไม่จำเป็นต้องทำความเคารพพระราชาหรือใคร ๆ อีกแล้ว จึงวิ่งขึ้นไปบนซุ้มประตูพระราชอุทยานชูคอไปมา
เมื่อพระราชาเสด็จกับมโหสถที่พระราชอุทยานอีกครั้ง ก็พบเจ้ากิ้งก่าตัวนั้นชูคอหราอยู่บนซุ้มประตูพระราชอุทยาน ไม่ได้วิ่งลงมาหมอบถวายบังคมดังเช่นเคย จึงได้ตรัสถามราชบุรุษผู้เฝ้าอุทยาน ได้ความว่าเมื่อเจ้ากิ้งก่าตัวนี้ได้เหรียญทองที่คอไปแล้ว ก็ไม่ยอมทำความเคารพใครอีกเลย
พระราชาจะให้ฆ่าเจ้ากิ้งกานั้นเสีย แต่มโหสถบัณฑิตได้ทูลขอให้ไว้ชีวิตมัน พระราชาจึงลงโทษมันด้วยการเลิกพระราชทานรัพย์เพื่อเป็นค่าเนื้อให้แก่มันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และให้ขับไล่มันออกไปเสียจากพระราชอุทยานของพระองค์
ด้วยเหตุนี้ คำว่า กิ้งก่าได้ทอง จึงเป็นสุภาษิตไทย ซี่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายสุภาษิต “กิ้งก่าได้ทอง” ว่า คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม.
เรื่องกิ้งก่าได้ทองนี้ มีคติสอนใจอยู่หลายประการ เป็นต้นว่า
- เมื่อได้เลื่อนขั้น ได้ยศตำแหน่งอยู่ดีกินดีแล้ว อย่าได้ประมาทหรือรื่นเริงบันเทิงใจเกินกว่าเหตุ เขาให้เราได้ เขาก็เอาคืนเราได้ทั้งหมดเช่นกัน
- อยู่กับคนใหญ่คนโต เหมือนเล่นกับไฟ ต้องคอยระวังตัวให้มาก หากเขาไม่พอใจเมื่อไหร่ ก็จะปลดเราเอาดื้อ ๆ ได้ แม้ความผิดของเรานั้นจะเล็กน้อยก็ตาม อันที่จริงว่าไปแล้ว ความผิดของเจ้ากิ้งก่านั้นมันนิดเดียว แต่มันผิดใจหรือผิดกิเลสของคนอื่น มันจึงเป็นเรื่องใหญ่ หรือถ้ามองในทางกลับกันเป็นความน่ารักแสนรู้ของเจ้ากิ้งกาด้วยซ้ำ ที่รู้ว่าตนเองมีดี หรือได้รับรางวัลแล้ว ต้องการที่จะแสดงรางวัลนั้นให้คนอื่นได้รับรู้
- การให้รางวัลหรือสิ่งของ หรือยศตำแหน่งแก่บุคคลที่ไม่ควรได้รับ นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วอาจจะมีผลเสียกลับมา อันที่จริง กิ้งก่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องได้ทองที่คอ แต่คนก็ยังนำทองไปห้อยที่คอมัน ซึ่งถือว่ามอบสิ่งที่ไม่ควรให้แก่มัน จึงทำให้มันเหลิงหรือไม่รู้จะวางตัวอย่างไรดี จึงได้กลายเป็นเช่นนั้น ความผิดอยู่ที่คนมอบให้เช่นกัน ที่ไม่ศึกษาผู้รับให้ดีว่าคนนี้เหมาะกับสิ่งนี้ไหม เหมาะกับงานนี้ หรือตำแหน่งนี้ไหม
- การมีที่ปรึกษาดี มีกัลยาณมิตรที่ดีมีประโยชน์ไม่น้อย อย่างเรื่องนี้พระราชามีมโหสถบัณฑิตเป็นพระสหายเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำต่าง ๆ จึงไม่ทำให้พระองค์ต้องสร้างบาปกรรมมากกว่านี้