ถ้าหากเป็นพระเนื้อตะกั่ว เก่า ฝังอะไรสักอย่างที่มองดูเหมือนกระดูก เขี้ยว หรือหินสีขาวขุ่น ตะกั่วคล้ำ คนโดยมากก็จะเหมาว่าเป็นหลวงพ่อดำฝังเขี้ยวหมาป่า วัดกุฏิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีหลากหลายพิมพ์และขนาดมาก แต่ก็เป็นไปได้ทั้งนั้นครับ พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าหลายวัดหลายองค์ส่วนมากท่านสร้างพระออกมาเรื่อย ๆ ตามวัสดุที่ได้ตามทิ้งถิ่น ตามพิมพ์ที่จะหาได้หรือทำได้ ก็ท่านไม่ได้ทำมาเพื่อที่จะขายนี่ ท่านไม่ได้สนใจใครจะว่าเก๊-แท้ เหมือนการตลาดทุกวันนี้ครับ
หลวงพ่อดำ วัดกุฏิเป็นใคร
หลวงพ่อดำ ท่านเป็นพระที่ชอบเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรโดยเฉพาะแถวตะเข็บชายแดนที่ติดกับเขมร ต่อมาท่านได้มาจำพรรษาที่วัดกุฏิ ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับฝั่งเขมรนั่นเอง เป็นที่ทราบกันดีว่า วิชาคุณไสย, มนต์ดำ, ยาสั่ง ต่าง ๆ ตลอดจนการใช้อำนาจภูตผีปีศาจพรายกุมารนั้นที่มาจากฝั่งเขมรในสมัยนั้นแรงนัก ซึ่งหมอคุณไสยบ้างคนอาจจะใช้ชาวบ้านเป็นที่ทดลองวิชาคุณไสย ปลอยของ เสกของทดลองวิชาต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านล้มป่วยอย่างไม่ทราบสาเหตุบ้าง เป็นบ้าคลุ้มครั่งบ้าง บางคนก็เสียชีวิตอย่างกระทันหันไปก็มี ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างล่ำลือกันไปต่าง ๆ นานาพากันหวาดกลัวไปหมดจนไม่เป็นอันต้องทำมาหากิน ร้อนถึงหลวงพ่อดำ วัดกุฏิ ท่านจึงได้เมตตาจัดสร้างวัตถุมงคลต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งพระยุคแรก ๆ ของท่านนั้นเป็นเนื้อตะกั่ว ว่ากันมาว่าพระยุคแรกของท่านนั้นสร้างจากสิงห์ตะกั่วคู่หนึ่งซึ่งตั้งอยู่หน้าโบสถ์เก่าก่อนที่ท่านจะมาอยู่เสียอีก มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิงห์คู่นี้ว่า เด็ก ๆ แถววัดกุฏิมักจะนำสิงห์คู่นั้นไปเล่นกันตามท้องไร่ท้องนาเป็นที่สนุกสนาน บางครั้งทิ้งไว้ไม่นำกลับมาไว้ที่เดิมตามประสาเด็ก แต่ก็แปลกอยู่ว่าสิงห์คู่นั้น ถึงแม้ว่าเด็ก ๆ จะเล่นแล้วทิ้งไว้ตามท้องนาก็ตาม เช้ามาสิงห์คู่นั้นก็จะเห็นกลับมาตั้งไว้อยู่ที่หน้าโบสถ์เช่นเดิมทุกครั้ง โดยที่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนนำมาเก็บไว้ที่เดิม
พระหลวงพ่อดำ วัดกุฏิ มีกี่พิมพ์
สำหรับพระเนื้อตะกั่วของหลวงพ่อดำนั้น มีหลายพิมพ์มาก เอาที่แน่นอนไม่ได้ ท่านชอบแบบไหน หรือได้แม่พิมพ์แบบไหนท่านก็ทำอย่างนั้น ก็อย่างว่าครูบาอาจารย์ที่ท่านมีเมตตา มีแต่ให้ สร้างเพื่อแจกอย่างเดียว เพื่อที่จะมีให้แจกได้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน ฉะนั้น มีพิมพ์แบบไหนที่ท่านมี ที่ท่านทำสะดวกหรือศิษย์นำมาถวาย ศิษย์ช่วยทำ ท่านทำหมดครับ มีทั้งพิมพ์ มีทั้งพิมพ์พระพุทธแบบพระประธาน พิมพ์พระพุทธชินราช พระปิดตาเกลอเดียว (พิมพ์ปักเป้า) พิมพ์พระปิดตาห้าเกลอ (ปิดตาพวงชมพู่) และมีขนาดต่าง ๆ กันไปอีกครับ แต่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่านคือ พระเนื้อตะกั่วของท่านจะฝังสิ่งหนึ่ง บ้างก็ว่าเป็นกระดูก บ้างก็ว่าเป็นฝัน บ้างก็ว่าเป็นหินพระธาตุ แต่โดยมากจะบอกว่าเป็นเขี้ยวหมาป่า
ที่มาเขี้ยวหมาป่า พระหลวงพ่อดำ วัดกุฏิ
เมื่อครั้งที่หลวงพ่อดำออกธุดงค์ตามป่าเขาแถวตะเข็บชายแดนนั้น หลวงพ่อท่านได้ไปเจอกับซากหมาป่าจำนวนหนึ่ง และในซากนั้นก็มีซากของเสือโคร่งรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่ามีการต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างหมาป่ากับเสือโคร่ง หลวงพ่อดำท่านได้รู้ซึ้งถึงความกล้าหาญของหมาป่า ถึงแม้ว่าตัวเองจะเล็กกว่าเสือมากเป็นเท่าตัว แต่ใจนั้นอาจหาญไม่ต่างกับเสือโคร่งเลย สามารถล้มเสือได้ จึงมีคำกล่าวที่ว่า “เสือหลงป่า อย่าดูแคลนหมาเจ้าถิ่น” หลวงพ่อดำท่านจึงได้นำเขี้ยวของหมาป่าเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสร้างวัตถุมงคลของท่าน โดยฝังเข้าไปที่เนื้อตะกั่ว
พุทธคุณของพระหลวงพ่อดำ วัดกุฏิ
หลวงพ่อดำนั้น ท่านเสกพระเครื่องของท่านเน้นเจาะจงพุทธคุณไปที่ป้องกันคุณไสย มนต์ดำ สายดำ ยาสั่ง ภูตผีปีศาจ กันวิชาไสยดำต่าง ๆ ของเหล่าหมอไสยศาสตร์ซึ่งมีมากแถวชายแดนเขมร เสกป้องกันไม่ให้คุณไสยต่าง ๆ ที่ถูกส่งเข้ามาไม่ให้ทำร้ายผู้บูชาพระเครื่องของท่านไว้ติดตัวหรือติดบ้านได้ เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ คุณไสยมนต์ดำเหล่านั้นก็จะย้อนกลับไปที่ผู้ที่ส่งมาเอง
แต่ใช่ว่า จะป้องกันคุณไสย วิชามารที่มองไม่เห็นได้อย่างเดียว พระเครื่องของหลวงพ่อดำ วัดกุฏิยังเด่นด้านเหนียว คงกระพัน ยิงไม่เข้า ฟันไม่แตกอีกด้วย ซึ่งนักเลงละแวกนั้น ในสมัยนั้นจะทราบและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี