พระนาคปรกใบมะขาม รุ่นแรก หลวงปู่สี วัดสะแก อยุธยา
พระพุทธพิมพ์นาคปรก ขนาดเล็กเท่าใบมะขาม จึงเรียกว่าพระนาคปรกใบมะขาม อธิษฐานจิตโดยพระเกจิเมืองกรุงเก่า หลวงปู่สี วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนายวุฒิชัย จิตรประสงค์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2520
เหรียญพระนาคปรกใบมะขามองค์นี้ถูกออกแบบมาอย่างสวยงาม มีความคมชัดเป็นอย่างมาก โดยฝ่ายศิลป์ของกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ซึ่งรศ.นิพัทธ์ จิตรประสงค์ได้นำพระนาคปรกใบมะขาม เจ้าคุณสนิท วัดท้ายตลาด และพระนาคปรกใบมะขามของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มาเป็นแบบให้กองกษาปณ์
จำนวนการสร้าง พระนาคปรกใบมะขาม รุ่นแรก หลวงปู่สี วัดสะแก
พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่สี เนื้อทองคำ สร้างจำนวนน้อย (หลักสิบ)
พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่สี เนื้อเงิน สร้างประมาณ 100 องค์
พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่สี เนื้อทองแดง สร้างประมาณ 1,000 องค์
มวลสารพระนาคปรกใบมะขาม รุ่นแรก หลวงปู่สี วัดสะแก
มวลสารที่นำมาจัดสร้างพระนาคปรกใบมะขาม รุ่นแรก หลวงปู่สี วัดสะแก เนื้อทองแดงได้จากตะกรุดเก่าชนวนที่เหลือจากการสร้างพระของคุณเป๋งย้งและคุณปรีชา เอี่ยมธรรม รวมทั้งพระกรุต่าง ๆ ที่ชำรุดได้จากคุณปรีดา ดวงวิชัย แล้วนำมาหลอมรวมกัน เสร็จแล้วจึงนำมารีดเป็นแผ่น จากนั้นจึงนำมาปั๊มเป็นองค์พระนาคปรกใบมะขาม กล่าวได้ว่าพระนาคปรกใบมะขาม รุ่นแรก หลวงปู่สี วัดสะแก เป็นสุดยอดแห่งพระนาคปรกใบมะขามที่มีส่วนผสมของมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มากมาย
เมื่อปั้ม พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่สี วัดสะแก รุ่นแรก เสร็จแล้ว รศ.นิพัทธ์ จิตรประสงค์จึงได้นำเหรียญทั้งหมดมาขอความเมตตาเพื่อให้หลวงปู่สี ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก
กล่าวกันว่า หลวงปู่สีท่านไม่แจกพระนาคปรกรุ่นนี้ให้ใครง่าย ดังที่รศ.นิพัทธ์ จิตรประสงค์เล่าว่า “เคยมีพระธุดงค์ผ่านมาขอ ท่านก็ไม่ยอมให้แม้สักองค์เดียว” (จริงหรือไม่ ผมไม่ทราบ เป็นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต)
ข้อมูลและรูปภาพจากเพื่อนที่เช่าบูชาพระองค์นี้มา เข้าใจว่าเป็นภาพที่ถ่ายโดยเจ้าของเดิมและข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต
หลวงปู่สี หรือ หลวงปู่สีห์ หรือ หลวงปู่ศรีกันแน่
เรื่องชื่อของหลวงปู่สีนั้น บางแห่งก็เขียนเป็น ศรี แล้ววงเล็บเป็น (สีห์) ซี่งทั้ง 2 คำนี้ มีความหมายต่างกันมาก ไม่อาจจะใช้แทนกันได้
ศรี หมายถึง สิริมงคล, มิ่งขวัญ, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, มิ่งมงคล
สีห์ หรือ สีหะ หมายถึง ราชสีห์ หรือ สิงโตที่เป็นจ่าฝูง
สี หมายถึง ปรากฏการณ์ของแสงที่ปรากฏแก่ตาให้เห็นเป็นขาว แดง ดำ เหลือง น้ำเงิน เป็นต้น.
ส่วนตัวผมคิดว่า ชื่อของคนสมัยก่อน เขียนง่าย ๆ ตามเสียงที่ได้ยิน ไม่ซับซ้อน ไม่นิยมใช้การันต์ หรือไม้ทัณฑฆาตสำหรับฆ่าตัวอักษร ความเป็นไปได้คือ น่าจะเป็นหลวงปู่สี พินฺทสุวณฺโณ แม้กล่องพระนาคปรกใบมะขามที่แจกในงานฌาปนกิจศพนายวุฒิชัย จิตรประสงค์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2520 จะเขียนคำว่า “หลวงปู่ศรี” ก็ตาม ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจผิดของคนทำกล่องพระเอง แต่อย่างไรก็ตาม ฝากท่านทั้งหลายไว้พิจารณาด้วยครับ
มีบางท่านให้ความืคิดเห็นว่า เดิมทีน่าจะตั้ชื่อง่าย ๆ เรียกชื่อง่าย ๆ เขียนตรงตัวตามที่เรียกคือ สี ต่อมา เมื่อคนมีความรู้เรื่องภาษามากขึ้น อยากให้ชื่อครูอาจารย์ของตนมีความหมายมากขึ้น จึงเขียนเป็น สีห์
หากพิจารณาตามชื่อฉายาของท่านแล้ว พินฺทสุวณฺโณ อาจจะแปลได้ว่า ผู้มีสีสวยงามดั่งทองคำอันเทวดาแต่งแต้มแล้ว ก็จะเข้ากับคำว่า สี อันเป็นคำเรียกชื่อเดิมของท่าน