คาถาป้องกันภัย ป้องกันโจรภัย
ผมเป็นคนชอบมนต์คาถามาตั้งแต่สมัยยังเด็ก ชอบศึกษาค้นคว้าจากตำราต่าง ๆ ก็ตำราหนังสือสวดมนต์ทั่ว ๆ ไปนั่นแหล่ะครับ สนใจคาถาบทไหนผมก็จดไว้ ท่องจำไว้ มีคาถาบทหนึ่งซึ่งผมชอบมากและท่องจำขึ้นใจ บทว่า
ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงกะระณา ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ
ในตำราอธิบายว่า คาถาบทนี้ใช้ภาวนาป้องกันภัยต่าง ๆ รวมทั้งโจรภัยด้วย เวลาจะนอนใช้เสกหมอนหนุนหัวจะไม่มีภัยมาถึงตัว ถ้ามีคนเข้ามาทำร้ายหรือโจรขึ้นบ้านขโมยของก็จะมีเหตุให้เราตื่น หรือมีเหตุอันใดอันหนึ่งให้โจรนั้นตกใจ กลับใจไม่ขโมยของเราไป
ความเป็นมาของคาถาป้องกันภัย โจรภัย ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
เมื่อผมได้มีโอกาสเรียนภาษาบาลี เรียนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจึงได้รู้ว่า คาถานี้มีปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และเคยมีผู้ใช้ได้ผลจริง พูดง่าย ๆ คือมีประสบการณ์ในการใช้คาถาป้องกันภัย ป้องโจร ฆะเฏสิ บทนี้
เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อรรถกถาคาถาธรรมบท (ธัมมปทัฏกถา) ว่าด้วยเรื่องพระจูฬปันถกเถระ ผมจะนำเล่าสรุปเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับคาถา ฆะเฏสิ นี้
มาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง เดินทางไปฝากตัวกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่ตักกสิลาร่วมกับมาณพคนอื่น 500 คน เพื่อเรียนศิลปะความรู้ เขาอุปัฏฐากรับใช้อาจารย์ทุกอย่างเกินกว่ามาณพคนอื่น ๆ จะทำได้ แต่เขาเป็นคนโง่จดจำอะไรไม่ค่อยได้ จึงไม่สามารถเรียนศิลปะอะไรได้เลย
เขาเรียนอยู่นาน แม้คาถาบทเดียวก็ไม่สามารถจะจดจำได้ นึกละอายใจ เลยเข้าไปลาอาจารย์กลับบ้านเกิด อาจารย์เห็นว่าเขาอยู่มานานทั้งอุปัฏฐากรับใช้ดีก็เกิดความสงสารและพยายามหาวิธีให้เขาได้ศิลปะความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งติดเพื่อเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จึงได้ให้มนต์ว่า
ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงกะระณา ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ
(แปลว่า ท่านเพียรไปเถิด เพียรไปเถิด, เพราะเหตุไร? ท่านจึงเพียร, แม้เราก็รู้เหตุนั้นอยู่ รู้อยู่)
ให้มาณพผู้เป็นศิษย์ท่องกลับไปกลับมาหลายร้อยครั้ง แล้วถามจนได้คำตอบแน่ชัดว่าจำได้ จากนั้นอาจารย์จัดแต่งอาหารเพื่อให้ไปกินระหว่างทางกลับบ้าน พร้อมกัยสั่งว่า “เจ้าไปเถอะ, เจ้าอาศัยมนต์นี้เลี้ยงชีพเถิด, แต่เพื่อไม่ให้มนต์เสื่อม (เพื่อไม่ให้ลืม) เธอจงทำการสาธยายมนต์นี้บ่อยๆ” แล้วให้เขาออกเดินทางไป
ครั้นเมื่อมาณพเดินทางกลับมายังเมืองพาราณสีอันเป็นบ้านเกิดของตนแล้ว มารดาดีใจใหญ่ว่าลูกตนสำเร็จการศึกษาทำการต้อนรับเป็นอย่างดี
คืนหนึ่งพระราชาปลอมตัวออกตรวจบ้านเมือง เห็นพวกโจรกำลังแอบเข้าบ้านของมาณพคนนั้นเพื่อที่จะขโมยของ มาณพตื่นขึ้นมาพอดี กลัวว่าตนเองจะลืมมนต์ที่เรียนมาจากอาจารย์ จึงท่องทบทวนว่า “ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงกะระณา ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ” พวกโจรตกใจคิดว่าเจ้าของบ้านรู้ตัวจึงรีบหนีไปโดยที่ยังไม่ทันหยิบสิ่งของใดไป
พระราชาเห็นดังนั้น จึงมีพระราชดำริว่ามาณพคนนี้มีมนต์วิเศษจนเป็นเหตุให้โจรหนี เมื่อทรงจดจำสถานที่และหน้าตาของมาณพไว้แล้วจึงเสด็จพระราชวัง
รุ่งเช้า พระองค์ให้เรียกมาณพมาเพื่อขอเรียนมนต์ มาณพทูลว่าจะสอนให้เมื่อพระองค์ลงมานั่งในพื้นเสมอกัน (ว่าไปแล้วมาณพก็ฉลาดอยู่นะ อาจจะเป็นธรรมเนียมของการสอนวิชาความรู้หรือมนต์ที่ผู้เรียนจะต้องไม่นั่งสูงกว่าอาจารย์ผู้สอน หรือเพื่อต้องการให้พระราชาลดมานะหรืออย่างไรไม่ทราบ) จากนั้นมาณพจึงได้บอกมนต์คาถานั้น พระราชาได้สมนาคุณมาณพด้วยเงินหนึ่งพันเหรียญ
ต่อมาไม่นาน เสนาบอดีคิดทรยศจึงให้สินจ้างแก่พนักงานภูษามาลาคนหนึ่งที่จะถวายปลงพระมัสสุ (หนวด)ให้พระราชา โดยให้เขาตัดที่พระศอของพระราชาในขณะที่ถวายปลงพระมัสสุ และสัญญากับเขาว่าถ้าทำสำเร็จตนจะได้เป็นพระราชา จะแต่งตั้งให้เขาเป็นเสนาบดีเป็นค่าสินจ้าง
เมื่อถึงวันแต่งมัสสุถวายพระราชา นายภูษามาลานั้นได้เอาน้ำหอมสระสรงพระมัสสุให้เปียก สะบัดมีดโกน จับที่ชายพระนลาตคิดว่า “มีดโกนทื่อไปหน่อย, เราต้องตัดก้านพระศอให้ขาดทันทีโดยครั้งเดียว” ดังนี้แล้ว จึงยืนลับมีดโกน
ในขณะนั้น พระราชาทรงระลึกถึงมนต์ที่พระองค์ได้เรียนมา (กลัวลืม) จึงได้สาธยายว่า
“ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงกะระณา ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ“
นายภูษามาลาผู้ทำหน้าที่ช่างกัลบกได้ยินเข้าถึงกับตกใจตัวสั่นเหงื่อตก ลุกลี้ลุกลนกลัวว่าพระราชาจะล่วงรู้แผนร้ายที่ตนจะทำ ทิ้งมีดโกนแล้วหมอบกราบลงแทบพระบาท
พระราชาทอดพระเห็นดังนั้น ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็นผู้มีพระปัญญาฉลาด จึงได้ทำทีตรัสไปว่า “เฮ้ย! อ้ายภูษามาลาใจร้าย มึงเข้าใจว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินอย่างกูไม่รู้มึงหรือ?”
นายภูษามาลาจึงขอพระราชทานอภัย เมื่อพระราชาพูดปลอบใจว่า “ไม่เป็นไร จงพูดมาเถอะ” เขาจึงสารภาพทุกอย่างเสียสิ้น
พระราชาทราบความดังนั้นแล้วจึงเนรเทศเสนาบดีคนนั้นไป พร้อมระลึกว่ามนต์ของมาณพได้ช่วยชีวิตพระองค์ไว้ จึงรับสั่งให้มาณพผู้เป็นอาจารย์มาเฝ้า ตรัสว่า “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าได้ชีวิตเพราะอาศัยท่าน” ดังนี้แล้ว ทรงสมนาคุณมาณพเป็นอย่างมาก ได้พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่มาณพผู้เป็นอาจารย์นั้น.
ข้อสังเกต คาถา ฆะเฎสิ
1.คาถา ฆะเฎสิ บทนี้ ในหนังสือสวดมนต์ทั้งหลาย หรือจากที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต โดยมากเป็น ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงกะระณัง ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ แต่ในคัมภีร์อรรถกถาคาถาธรรมบท (ธัมมปทัฏกถา) ว่าด้วยเรื่องพระจูฬปันถกเถระ เป็น ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงกะระณา ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ
2. คาถา ฆะเฏสิ นี้ เมื่อแปลออกมาแล้ว ได้ความว่า “ท่านเพียรไปเถิด เพียรไปเถิด, เพราะเหตุไร? ท่านจึงเพียร, แม้เราก็รู้เหตุนั้นอยู่ รู้อยู่”
3.คาถา ฆะเฏสิ นี้ เป็นคำพูดหรือบทมนต์ที่คนสมัยนั้นฟังเข้าใจความหมายจริง ๆ จึงทำให้โจรหรือผู้ร้ายเข้าใจว่าผู้ท่องมนต์นี้รู้สิ่งที่ตนเองทำ
4.เมื่อพิจาณาจากประสบการณ์ในเนื้อเรื่องที่ยกมาทั้ง 2 เหตุการณ์จะเห็นว่า มนต์ ฆะเฏสิ นี้ ต้องสวดให้ผู้ที่คิดจะทำร้ายเราหรือขโมยของเราได้ยิน และเขาเข้าใจความหมาย
5.เมื่อพิจาณาจากประสบการณ์ในเนื้อเรื่องที่ยกมาทั้ง 2 เหตุการณ์ที่ยกมานี้ จะเห็นว่า มนต์ ฆะเฏสิ ใช้ป้องกันขโมยหรือโจรภัยก็ได้ ป้องกันภัยจากคนหรือจากศัตรูก็ได้ แต่อาจารย์ทุกวันนี้โดยมากจะบอกว่า มนต์ ฆะเฏสิ นี้ใช้ป้องกันขโมย
6.มนต์ ฆะเฏสิ ไม่ใช่คาถาของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นมนต์ของอาจารย์ทิศาปาโปกข์แห่งตักกสิลา และก็ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นอาจารย์ทิศาปาโปกข์ ส่วนมาณพหนุ่มคนที่เรียนมนต์ก็เป็นอดีตชาติของพระจูฬปันถกเถระ
7.แม้ อาจารย์ทิศาปาโปกข์แห่งตักกสิลาผู้สอนมนต์ ฆะเฏสิ แก่มาณพจะเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า แต่นั่นก็ยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่สิ้นความโลภ โกรธ หลง ฉะนั้น มนต์ ฆะเฏสิ นี้ จึงไม่ใช่มนต์ที่พระองค์ตรัสสอนในขณะที่เป็นพระพุทธเจ้า เพียงแต่พระองค์นำเรื่องในอดีตที่พระองค์เคยเป็นในสมัยที่เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์มาเล่าให้เหล่าภิกษุฟังเท่านั้น ตามที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาคาถาธรรมบท (ธัมมปทัฏกถา) ว่าด้วยเรื่องพระจูฬปันถกเถระ