วัดพลับ
วัดพลับ หรือ วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ ริมคลองวัดราชสิทธารามและคลองวัดสังข์กระจาย ซอยอิสรภาพ 23 ถนนอิสรภาพ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เริ่มมีความสำคัญขึ้นมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่กรุงรัตนโกสินทร์ และทรงโปรดให้สร้างพระอารามหลวงใหม่ติดกับวัดพลับ จากนั้นโปรดให้รวมเป็นวัดเดียวกัน เพื่อถวายเป็นที่จำพรรษาของพระญาณสังวรเถร (สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่พระองค์ทรงเคารพเลื่อมใสศรัทธา พระองค์โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์มาศึกษาพระกรรมฐานกับพระญาณสังวรเถร ทำให้วัดราชสิทธารามเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญมาแต่ครั้งนั้นมา แม้ต่อมาพระญาณสังวรเถรจะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช ย้ายไปประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ศิษย์ของพระองค์ที่วัดพลับก็ยังคงสืบทอดกรรมฐานเรื่อยมา
ต่อมาลุถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เนื่องจากพระองค์เคยมาประทับจำพรรษาที่วัดแห่งนี้เมื่อทรงผนวช เป็นเวลา 1 พรรษา พระองค์จึงได้โปรดให้บูรณะและสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมขึ้นอีก เป็นต้นว่า พระเจดีย์ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และตำหนักเก๋งจีน นอกจากนั้นแล้ว พระองค์ยังได้พระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชสิทธารามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2374 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้บูรณะและพระราชทานนามพระเจดีย์ว่า พระสิริจุมภฏะเจดีย์
ในวงการพระเครื่องและพระบูชา วัดพลับมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดพระเนื้อผงยอดนิยม เรียกกันว่า “พระวัดพลับ” หรือ “พระกรุวัดพลับ”
ปฐมเหตุแห่งการพบพระวัดพลับ
มีเรื่องราวเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ปรากฏมีกระรอกเผือกสวยงามยิ่งนักตัวหนึ่งมาวิ่งเล่นอยู่ที่บริเวณลานวัดพลับ ด้วยเสน่ห์แห่งความสวยงามของมัน เป็นที่สะดุดตาของพระสงฆ์องค์สามเณรและชาวบ้านในบริเวณนั้นอย่างมาก ด้วยความใคร่รู้อยากดูใกล้ อยากทราบที่ไปที่มาของกระรอกเผือกตัวนี้ จึงช่วยกันไล่จับกระรอกเผือกตัวนั้น มันก็ได้วิ่งหนีเข้าไปในโพรงของพระเจดีย์ ชาวบ้านจึงได้ใช้ไม้กวาดช่วยกันกระทุ้งโพรงนั้นเพื่อให้กระรอกเผือกวิ่งออกมา
แต่ก็ได้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น คือมีพระพิมพ์จำนวนมากไหลออกมาจากโพรงพระเจดีย์นั้นเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดต้องวิ่งไปเอากระบุงหลายใบมารองรับเก็บรักษาไว้ นั่นถือว่าเป็นการพบพระวัดพลับเป็นครั้งแรกและสำคัญ
ท่านเจ้าอาวาสวัดพลับทราบเหตุนั้นแล้วจึงได้ประชุมคณะกรรมการและชาวบ้าน เพื่อทำการเปิดกรุพระเจดีย์วัดพลับอย่างเป็นทางการ พบโพรงใหญ่อยู่ภายในกลางพระเจดีย์ และพบ “พระวัดพลับ” อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้วยังพบพระผงสี่เหลี่ยม ด้านหลังจารอักขระขอมอ่านว่า “อรหัง” ต่อมาวางการพระเครื่องจึงได้ขนานนามว่า “พระสมเด็จอรหัง” (อ่านว่า อะระหัง) อีกจำนวนหนึ่งด้วย พบทั้งพระสมเด็จอรหังพิมพ์สามชั้นและพระสมเด็จอรหังพิมพ์ฐานคู่ ซึ่งพระสมเด็จอรหังเหล่านี้สมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เป็นผู้สร้างบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพลับ เนื่องจากพระวัดพลับเป็นพระเนื้อผงสีขาว มีมวลสารที่คล้ายคลึงกับพระสมเด็จอรหังมาก จึงสันนิษฐานกันว่าพระวัดพลับพิมพ์อื่น ๆ ที่พบในพระเจดีย์ก็น่าจะถูกสร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เช่นกัน
เนื้อหามวลสารของพระกรุวัดพลับจะดูคล้ายคลึงกับพระสมเด็จวัดระฆังมากจนเซียนพระยุคก่อนบางคนกล่าวว่า “ถ้าพระสมเด็จวัดระฆังเนื้อไม่เหมือนพระวัดพลับจะไม่เล่น (ไม่ถือว่าเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง)” คือ เนื้อขององค์พระวัดพลับจะเป็นสีขาว มีความหนึกนุ่ม มีรอยแตกร้าวแบบไข่นกปรอท แต่ก็มีความแตกต่างกับพระสมเด็จวัดระฆังอยู่บ้าง คือพระวัดพลับบางองค์จะมีรอยรานของเนื้อพระอันเกิดจากความร้อน ซึ่งรอยรานนี้จะไม่มีในพระสมเด็จวัดระฆัง
จำนวนการสร้างพระวัดพลับ
พระวัดพลับ เป็นพระเนื้อผงผสมปูนปั้น ไม่ปรากฏจำนวนการสร้าง แต่น่าสร้างจำนวนมาก เพราะประวัติข้างต้นก็กล่าวไว้ว่าหลายกระบุง และยังพบเพิ่มเติมอีกทีหลังจำนวนมาก ส่วนพิมพ์พระวัดพลับที่วงการนิยมกันได้แก่
- พิมพ์ยืนถือดอกบัว (พิมพ์วันทาเสมาก็เรียก)
- พิมพ์ตุ๊กตาทรงชลูด
- พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่และเล็ก
- พิมพ์สมาธิใหญ่และเล็ก
- พิมพ์เข่ากว้างใหญ่และเล็ก
- พิมพ์พุงป่องใหญ่และเล็ก
- พิมพ์ปิดตาใหญ่และเล็ก
- พิมพ์ 2 หน้า
(การเรียกชื่อพิมพ์อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง)
ความพิเศษของพระวัดพลับ
- พระวัดพลับ เป็นพระเนื้อผงยุคแรก หมายความว่าเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างพระเนื้อผง เพราะยุคก่อน ๆ เป็นต้นว่า ยุคลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างพระเนื้อผง มีแต่เนื้อดินและเนื้อโลหะ (เนื้อชิน)
- พระวัดพลับ มีเนื้อคล้ายเนื้อพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามที่จัดสร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) จักรพรรดิแห่งพระเครื่องเป็นอย่างมาก จนเซียนพระบางท่านกล่าวว่า “ถ้าพระสมเด็จวัดระฆังเนื้อไม่เหมือนพระวัดพลับจะไม่เล่น (ไม่ถือว่าเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง)”
- พระวัดพลับ ไม่ปรากฏผู้สร้างที่แน่ชัด มีหลายความคิดเห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เป็นผู้สร้าง หรือขรัวตาจันพระภิกษุเขมร หรืออาจจะเป็นผู้อื่นสร้างไว้ โดยวงการพระเครื่องโดยมากให้ความเห็นว่าน่าจะสร้างโดย สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน)
- สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
- พระวัดพลับ เมื่อไม่ปรากฏผู้สร้างที่แน่ชัด ก็ย่อมไม่ทราบอายุการสร้าง แต่ก็น่าจะสร้างยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น คือพร้อมการสร้างพระเจดีย์
- พระวัดพลับ ไม่ทราบจำนวนการสร้าง แต่น่าจะมากพอควร หลายกระบุง
- นักนิยมพระเครื่องสมัยก่อนนิยมพระวัดพลับ เป็นอย่างมาก นิยมมากกว่าพระสมเด็จวัดระฆังเสียอีก กระแสพระสมเด็จวัดระฆังเพิ่งจะมาแรงตอนที่ถูกนำมาจัดเป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่อง เป็นหนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคี เรายิ่งแรงขึ้นเมื่อเข้าสู่ตลาดหรือสู่วงการซื้อขายพระ ว่าไปแล้ว ถ้าไม่มีการซื้อขาย ราคาก็ไม่แรงหรือไม่มีราคาเลย อย่างเช่นยุคที่เจ้าประคุณสมเด็จโตสร้าง ท่านแจกฟรี ไม่มีการซื้อขาย จึงไม่มีราคา
พุทธคุณของพระวัดพลับ
เซียนพระ (เซียนพระในที่นี้หมายถึง นักนิยมพระเครื่อง สะสมด้วยความชื่นชอบ บูชาด้วยศรัทธา ไม่ใช่นักขายพระ นักเล่นพระ อย่างทุกวันนี้ เซียนพระทุกวันนี้ควรเรียกว่า พ่อค้าวัตถุมงคลมากกว่า) กล่าวว่า “เซียนยุคเก่าใช้วัดพลับ เซียนยุคใหม่ใช้วัดระฆัง” เพราะมีความเชื่อว่า พระวัดพลับมีพุทธคุณครอบจักรวาล โดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี
ประสบการณ์ พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตา
มีผู้เคยทดลองพุทธคุณพระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตา โดยการนำพระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใส่เข้าไปในปากปลาแล้วทั้งยิงและฟัน ปรากฏว่าไม่เข้าเลยเพียงแต่เกล็ดกระจายหนังยู่เป็นรอยเท่านั้น อ่านหนุ่ม ทดลองเครื่องราง เกือบ 1,000 ผ่านแค่ 13 มีอะไรบ้าง มาดู
คาถาบูชาพระวัดพลับ
เนื่องจากมีความเชื่อว่า พระวัดพลับ สร้างโดย สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) ผู้เป็นสร้าง หรืออย่างน้อยพระองค์ท่านก็เคยครองวัดพลับมาก่อน ผมจึงขออัญเชิญคาถาของพระองค์ท่าน อันมีนามว่าคาถาพญาไก่เถื่อนมาเป็นคาถาเพื่อบูชาพระวัดพลับ ดังนี้
เวทาสากุ กุสาทาเว
ทายะสาตะ ตะสายะทา
สาสาทิกุ กุทิสาสา
กุตะกุภู ภูกุตะกุ
ความหมายของคาถาพญาไก่เถื่อน
คาถาพญาไก่เถื่อนแต่ละวรรค หมายถึง โลกธรรม 4 คู่ หรือ 8 ประการ ดังนี้
วรรค 1 หมายถึง มีลาภ / เสื่อมลาภ
วรรค 2 หมายถึงมียศ / เสื่อมยศ
วรรค 3 หมายถึง มีสรรเสริญ / นินทา
วรรค 4 หมายถึง มีสุข / ทุกข์
ทุกคนย่อมประสบพบเจอกับโลกธรรม 8 ประการนี้ จึงไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น เมื่อประสบกับสิ่งที่น่าพอใจ มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นต้น ก็ไม่ควรหลงจนเกินไป เมื่อประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจ มีความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นต้น ก็ไม่ควรเศร้าโศกเสียใจจนเกินเหตุ
อ้างอิง
วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร
ใครกันแน่.? เป็นผู้สร้าง “พระวัดพลับ”
คาถาพญาไก่เถื่อน
ประวัติและความเป็นมา “พระวัดพลับ พิมพ์เสมาวันทา”