หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา อีกหนึ่งพระเกจิอาจารย์สายนครปฐม ที่คนนิยมสายนี้ ไม่มีไม่ได้
หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา นครปฐม
รู้ไหม เมื่อก่อนผมคิดว่า หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา และ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง คือพระเกจิอาจารย์รูปเดียวกัน คือผมคิดว่าวัดนี้เรียกได้ 2 ชื่อ คือเรียกวัดธรรมศาลาบ้าง เรียกว่าวัดศีรษะทองบ้าง แต่ที่ไหนได้ แม้จะชื่อหลวงพ่อน้อยเหมือนกัน จังหวัดนครปฐมเหมือนกัน แต่ไม่ใช่พระเกจิรูปเดียวกัน ต่างยุคนสมัยอีกด้วย หลวงพ่อน้อยวัดศีรษะทองท่านเป็นพระเกจิยุคก่อนมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากช่วง พ.ศ.2470 กว่า ๆ ถึง พ.ศ.2488 ส่วนหลวงพ่อน้อยวัดธรรมศาลา พระเกจิยุคต่อมา มีชื่อเสียงเช่นกันโดยเฉพาะในช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 ถึง ปี พ.ศ. 2513
เหรียญหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา รุ่นฉลองหอระฆัง
วัตถุมงคลหลวงพ่อน้อย อินฺทสโร วัดธรรมศาลา มีหลายรุ่นด้วยกัน เหรียญรุ่นแรกของท่านเรียกว่า เหรียญหล่อหน้าเสือ สร้างราวปี พ.ศ. 2497-พ.ศ. 2498 เป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวกันว่าเหรียญหลวงพ่อน้อยวัดธรรมศาลารุ่นแรกหล่อหน้าเสือ มีพุทธคุณโดดเด่นในด้านคงกระพันชาตรี จัดเป็นสายเหนียวอีกรุ่นของนครปฐม
เหรียญหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา รุ่นฉลองหอระฆัง สร้างปี พ.ศ. 2513 เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลองหอระฆัง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2513 เป็นเหรียญที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม มีหู ดัานหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงพ่อน้อย ครึ่งองค์ หันข้าง มีข้อความภาษาไทยว่า “พระครูภาวนากิตติคุณ (หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา)” ด้านหลังเหรียญมีพระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง มีอักขระคาถาเขียนด้วยอักษรขอม มีข้อความภาษาไทยว่า “ที่ระลึกงานฉลองหอระฆัง ๑๕ มี.ค.๑๓”
จากข้อมูลที่ทราบมา เหรียญหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา รุ่นฉลองหอระฆัง มีจำนวนการสร้างหลายเนื้อ ดังนี้
- เนื้อทองคำ 6 เหรียญ
- เนื้อเงิน 100 เหรียญ
- เนื้อตะกั่ว
- เนื้อทองแดงผิวไฟ
- เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา รุ่นฉลองหอระฆัง แม้จะสร้างในปีที่ท่านมรณภาพ แต่เป็นเหรียญที่สร้างความทรงจำให้กับเหล่าพุทธศาสนิกชนที่ร่วมสร้างบุญใหญ่กับท่านคือสร้างหอระฆัง ทั้งเป็นเหรียญที่ออกในวาระฉลองความสำเร็จของการสร้างหอระฆัง จึงเป็นอีกหนึ่งเหรียญที่น่าจดจำ และเชื่อว่ามีพุทธคุณด้านชื่อเสียงดีงาม โด่งดังไปทั่ว เลื่อนยศตำแหน่ง มีหน้าที่การงานที่มี มีผู้คนเกรงขาม มีกินมีใช้ เพราะระฆังดังขึ้นทีไร ย่อมเป็นเสียงแห่งความดีงาม สะกดผู้คนให้มารวมตัวที่ศาลาเพื่อมาฟังพระเทศน์หรือสวดมนต์ หรือนำภัตตาหารมาถวายพระ จึงเชื่ออีกอย่างว่ามีเหรียญฉลองหอระฆังย่อมมีกินมีใช้ไม่อดอยาก