พระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น (หรือข้างใดข้างหนึ่ง) ปลายพระบาทยังจดอยู่กับพื้น อยู่ในท่าจะก้าวเพื่อทรงเสด็จพุทธดำเนิน พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกว ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน บางแห่งทำเป็นยกพระหัตถ์ขวาก็มี หรือทำเป็นจีบพระองคุลีก็มี พระพุทธรูปปางลีลานี้หากใครนึกภาพไม่ออกให้นึกถึง พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ประดิษฐานอยู่ที่ พุทธมณฑล ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
คาถาบูชาพระพุทธรูปปางลีลา
นะ เม ทิฏโฐ อิโต ปุพเพ นะ สุโต อุทะ กัสสะสิ
เอวัง วัคคุคโท สัตถา ตุสิตา คะณิมาคะโต
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิเม โหตุ สัพพะทา
แปลว่า
การที่พระพุทธเจ้าทรงพระศิริโสภาคอันงามปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยเห็นเลย ไม่เคยได้ยินแม้แต่ถ้อยคำใคร ๆ บอกเล่า พระบรมศาสดามีพระสุระเสียงอันไพเราะอย่างนี้เสด็จจากดุสิตมาสู่แผ่นดิน
ด้วยการกล่าวความจริงนี้ ขอความสวัสดี จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ
ความเป็นมาของพระพุทธปางลีลาที่งดงาม
แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้ามีพระอิริยาบถที่งดงามอยู่เสมอทุกวันทุกครั้งที่ก้าวเดิน มีครั้งพิเศษอยู่ว่า คราวหนึ่ง ในพรรษา 7 พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่ดาวดึงส์ หลังทรงจำพรรษาเสร็จแล้ว พระองค์ได้เยื้องย่างพุทธลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันได้แก้ว ท่ามกลางเทพยดาในหมื่นจักรวาล มีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น ที่ตามส่งเสด็จทางบันไดทองในเบื้องขวา ท้าวสหัมบดีพรหมพร้อมด้วยหมู่พรหมเป็นอันมากสงเสด็จโดยบันไดเงินในเบื้องซ้าย พระพุทธองค์เสด็จลีลาจากดาวดึงส์สวรรค์มาถึงเชิงบันไดที่สังกัสสนคร นอกจากมีชาวเมืองสังกัสสต้อนรับแล้ว ยังมีคู่พระอัครสาวกคอยต้อนรับอีกด้วย การที่พระพุทธเจ้าทรงพระพุทธดำเนินลงจากดาวดึงส์เทวโลกในท่ามกลางเทวดาและพรหมห้อมล้อมครั้งนั้นเป็นพระอิริยาบถที่งดงามยิ่งนัก จนพระสารีบุตรอัครวาวกเบื้องขวาได้กล่าวสรรเสริญการเสด็จพระพุทธดำเนินครั้งนี้ ด้วยบทคาถาว่า
นะ เม ทิฏโฐ อิโต ปุพเพ นะ สุโต อุทะ กัสสะสิ
เอวัง วัคคุคโท สัตถา ตุสิตา คะณิมาคะโต
หมายความว่า การที่พระพุทธเจ้าทรงพระศิริโสภาคอันงามปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยเห็นเลย ไม่เคยได้ยินแม้แต่ถ้อยคำใคร ๆ บอกเล่า พระบรมศาสดามีพระสุระเสียงอันไพเราะอย่างนี้เสด็จจากดุสิตมาสู่แผ่นดิน
ด้วยเหตุนั้น ผมจึงได้นำคาถาที่พระธรรมเสนาบดีกล่าวนั้น มาเป็นคาถาบูชาพระพุทธรูปปางลีลา แน่นอนว่า คาถานี้สามารถใช้เป็นคาถาบูชาพระพุทธรูปปางลีลาที่สร้างขึ้นในคราวฉลองพระพุทธศาสนา 25 ศตวรรษได้เช่นกัน