พระคาถาอิติปิโส ๘ ด้าน หรือ ที่เรารู้จักกันในนามพระคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คาถายันต์เกราะเพชร
พระคาถาอิติปิโส ๘ ด้าน
๑. อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา บทนี้ชื่อ กระทู้ ๗ แบก ประจำอยู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก)
๒. ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง บทนี้ชื่อว่า ฝนแสนห่า ประจำอยู่ทิศอาคเณย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)
๓. ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท บทนี้ชื่อ นารายณ์เกลื่อนสมุทร ประจำอยู่ทิศทักษิณ (ทิศใต้)
๔. โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ บทนี้ชื่อ นารายณ์ถอดจักร์ ประจำอยู่ทิศหรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้)
๕. ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ บทนี้ชื่อ นารายณ์ขว้างจักร์ตรึงไตรภพ ประจำอยู่ทิศประจิม (ทิศตะวันตก)
๖. คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ บทนี้ชื่อ นารายณ์พลิกแผ่นดิน ประจำอยู่ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)
๗. วา โธ โน อะ มะ มะ วา บทนี้ชื่อ ตวาดฟ้าป่าหิมพานต์ ประจำอยู่ทิศอุดร (ทิศเหนือ)
๘. อะ วิช สุ นุต สา นุส ติ บทนี้ชื่อ นารายณ์แปลงรูป ประจำอยู่ทิศอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)
พุทธคุณและวิธีใช้ พระคาถาอิติปิโส ๘ ด้าน
สิทธิการิยะ พระอิติบีโสแปดด้าน ฤทธิ์พ้นคณนาอาจจะกันได้สาระพัดตามปรารถนา พระอาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่าฝอยท่วมลังช้าง มีอุปเทห์มากหลายเหลือที่จะพรรณนา ท่านกล่าวไว้ย่อ ๆ ให้ใช้อุปเทห์ดังต่อไปนี้
ถ้าจะไปทางไกลแห่งหนใด ให้ภาวนาพระคาถาประจำทิศที่จะไป จะคุ้มกันเภทภัยไม่แผ้วพาน ถูกพิษผีหลวงหรือหลาวเหล็กก็ไม่มีภัย จะไปค้าขายก็เกิดผล นอกจากนี้ให้ใช้เป็นบท ๆ ไปดังนี้
บทที่ ๑ กะทู้ ๗ แบก เสกข้าวกินทุกมื้อเป็นประจำทุกวัน คงกระพันแก่อาวุธ ภาวนาเข้าสู้กับช้างอาจง้างเอางาหัก กำลังหนักกว่าช้างสาร ให้นมัสการครูบรรยาย พระฤษีทั้งหลาย ๗ พระองค์ คุณครูทั้งสิ้นมา ท่านเร่อยู่ทิศบูรพา ภาวนาอย่ากลัวมัน จงหันหน้าสู่ทิศนั้น
บทที่ ๒ ฝนแสนห่า ให้ภาวนาเมื่ออดน้ำวันยังค่ำ อย่ากลัวอยาก จงเสกหมาก ๑๕ คำกินถนำไปเถิดหนา นึกปรารถนาให้ฝนตก พระคาถายกใส่ไส้เทียน แล้วจงเพียรภาวนาพระคาถาแสนเก้าพัน ระลึกถึงชั้นเทวดาและอินทร์พรหมสิ้นทั้งหลาย ฝนตกเนื่องอย่าร้อนใจ เป็นอะไรเสกน้ำพ่นถ้วน ๗ หนก็จะหาย เคารพครูประสิทธิ์ ท่านประจำทิศอาคเนย์
บทที่ ๓ เกลื่อนสมุทร ฤทธิ์สุดเสกพริกไทย ๗ เมล็ด เสก ๗ หน แล้วจงพ่นลงที่ฝีสัก ๓ ทีก็จะสูญ จะเสกปูนสูญก็ได้ แม้ความไข้ก็ได้จะหาย เร่งตั้งใจภาวนา ลงกระดาษทำไส้เทียน แล้วจงเขียนพระคาถา ล้อมให้ครบตามกำลังเทวดาของผู้ไข้นั้น เทียนนั้นไซร้หนัก ๑ บาท จุดบูชาพระ นั่งภาวนา โรคโรคานั้นจะสูญสิ้น จงหันหน้าไปทางทิศทักษิณแล้วบรรยาย
บทที่ ๔ พระนารายณ์ขว้างจักร ฤทธิ์ศักดิ์มากนักหนา ภาวนาให้มันเมื่อผจญศัตรู ระลึกอยู่ในใจ ศัตรูไซ้ว้หย่อนฤทธา แขนและขาให้อ่อนเพลีย ใจละเหี่ยคิดย่อท้อ ไม่กล้าต่อสู้กับเรา ครูเฒ่าท่านกล่าวไว้ ท่านประจำทิศหรดี
บทที่ ๕ ตวาดป่าหิมพานศ์ เดชเชี่ยวชาญเลิศล้น แม้นเดินหนพบเสือช้าง ใจกระด้างแรตโดควาย โจรผู้ร้าย เป็นคู่ขับ จงอึดใจภาวนา เป็นมหาจังงัง มันหยุดยั้งไม่เข้าใกล้ ศัตรูร้ายนั้นแคล้วคลาด อย่าประมาทจงภาวนา ทุกเวลาค่ำและเช้า จงบ่นเล่าพระคาถาเป็นมหามงคล จงหันหน้าไปทิศประจิม
บทที่ ๖ นารายณ์เกลื่อนจักร ฤทธิ์นักครูท่านบอก ลูกไม่ออกเสกน้ำมนต์ ๑๐๘ หนกินเข้าไป ประพรมบนศีรษะ ดุจสวะจากคลองน้อย จงคอยดูคล้อยโดยคล่อง ๆ สะเดาะของอื่นเสกวารี ถ้าไม่มีเสกน้ำลาย เป่ากระจายหลุดด้วยฤทธิ์ ครูอยู่ทิศพายัพ
บทที่ ๗ นารายณ์ถอดรูป เลิศฤทธิ์สุดศักดิ์ดา ภาวนาสูบลมเข้าไป ยืนมั่นนับภาวนา จงเพ่งตาดูเงาไซร้ ถ้าเงาหายเป็นกำบัง คนสะพรั่งไม่เห็นเรา อาจารย์อยู่ทิศอุดร จงหันหน้าทางทิศนั้น
บทที่ ๘ นารายณ์แปลงรูป อย่าระคายเร่งภาวนา ศัตรูแปลกตัวเรา เสกเป่าสะเดาะ ๑๐๘ คาบ เป่ากระหน่ำมันลงไป ทนไม่ไหวหลุดหมดสิ้น อย่าถวิลเห็นประจักษ์ ถ้าหากรักทางเมตตา แป้งมันหอมมาเสก ๑๐๘ ที เก็บเอาไว้เวลาใช้เสก ๗ หน ใส่ผมทาหน้าตน เป็นเสน่ห์แก่หญิงชาย เขารักใคร่ดังลูกหลาน ครูท่านอยู่ทิศอีสานเร่งบูชา ภาวนาก่อนจะนอนสถาพรนักแล ฯ
พระคาถาบท อะ วิช สุ นุต สา นุส ติ นี้ จงนั่งภาวนาลูบพาขึ้นตั้งแต่ปลายเท้าถึงหน้าครั้งละ ๓ ที เช้าค่ำเป็นประจำทุกวัน ตาจะแดงดังครุฑเป็นมหาอำนาจยิ่งนัก ศัตรูย่อมกลัวเกรง ถ้าศัตรูล้อมไว้จะหนีออกทางทิศใด ให้เอาพระคาถาทิศนั้นภาวนา ถ้าพักแรมคืนในที่ระแวงภัย ให้เอาดินหรือหินมา ๘ ก้อน ภาวนาพระคาถาประจำทิศไหนก็ได้ ขว้างหินหรือก้อนดินไปทางทิศนั้น จนครบทั้งแปดทิศ ศัตรูเข้ามาไม่ถึงเรา นอกจากนี้หาวิธีใช้เอาตามปัญญาเถิด
ที่มา : หนังสือ ตำรา ไสยศาสตร์ ของ นายอนันต์ คณานุรักษ์ พิมพ์แจกในพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.หลวงสุทธิสรสำแดง ต.ม. ๑ มิถุนายน ๒๕๑๒