ความสำเร็จนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางกาย วาจา และใจ กายเราพร้อม วาจาเราดี ใจเรางาม ความสำเร็จย่อมตามมาได้เสมอ
คาถาเจรจาสำเร็จ
ตั้ง นะโม 3 จบ
นะโม พุทธายะ มะอะอุ ยะธาพุทโมนะ อุอะอะ อิสวาสุ สัพพะทัสสะ อะสังวิสุ โลปุสะพุภะ
ท่านว่า คาถาเจรจาสำเร็จนี้ ใช้สวดเพื่อเสกน้ำล้างหน้าตอนเช้าก่อนที่จะออกไปเจรจาธุรกิจการงานใด ๆ จะช่วยให้การเจรจาราบรื่น ถูกใจบุคคลผู้ที่เราติดต่อเจรจาด้วย เมื่อเขาถูกใจ ความสำเร็จก็จะตามมา
คาถานี้อ้างอำนาจพระพุทธคุณ ฉะนั้น ผมจึงขอนำพุทธคุณที่ท่านสามารถจะได้จากคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลักธรรมที่ว่า สังคหวัตถุ 4 ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล สังคหวัตถุ 4 ประการ ได้แก่
- ทาน การให้ คือ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเสียสละ การแบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำในสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์
- ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวาน สร้างสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือต่อกัน รวมถึงคำที่แสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้ผู้ฟังนิยมยอมตาม
- อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ คือ การขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ รวมถึงการช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม
- สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอต่อกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข รวมถึงการวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี
เมื่อนักเจรจาทั้งหลายปรารถนาจะให้สำเร็จในสิ่งที่ตนเจรจา ให้ผู้ฟังซาบซึ้งใจหรือคล้อยตามในสิ่งที่เรานำเสนอ ควรอย่างยิ่งที่จะนำหลักปิยวาจาในสังคหวัตถุไปใช้ อย่าได้อาศัยแต่มนต์คาถาที่ภาวนาอยู่ในใจที่ไม่มีใครรู้เพียงอย่างเดียว ควรได้พูดคำที่ไพเราะ ประกอบด้วยเมตตาจิต ด้วยความหวังดี มีความจริงใจ นำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เขาได้รับรู้