วิธีประเคนของพระ
๑) ของที่ประเคนต้องไม่ใหญ่โต หรือหนักมากเกินไป พอขนาดคนเดียวยกได้ และต้องยกของนั้นพ้นพื้นที่ของนั้นวางอยู่
ของที่ประเคนเพื่อที่จะให้พระฉัน ต้องไม่ใช่สิ่งของที่คนทั่วไป คนเดียวยกไม่ได้ ถ้าเป็นของใหญ่ เช่น หม้อข้าวขนาดใหญ่ ๆ คนเดียวยกไม่ได้ ต้องตักแบ่งใส่ภาชนะอื่นก่อนจึงค่อยประเคน จานข้าวที่วางบนโต๊ะ ก็ต้องยกประเคนทีละจาน ต้องยกสิ่งนั้นให้พ้นจากพื้น สูงพอประมาณ คนโบราณมองเห็นแมวในศาลาวัด ก็เปรียบเทียบว่าสูงจากพื้นพอแมวลอดผ่านได้ สิ่งที่ไม่ควรทำคือ กลิ้งของประเคนพระ หรือประเคนแบบผลัก ๆ ของให้ติดกัน
๒) ผู้ประเคนต้องเข้ามาในหัตบาส คือผู้ประเคนต้องอยู่ห่างจากพระภิกษุผู้รับประเคนประมาณหนึ่งศอก
เวลาประเคนของพระ จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม ควรที่จะเข้ามาในหัตถบาส คือประมาณ ๑ ศอก หรือประมาณสัก ๕๐ ซ.ม. บางทีเพื่อที่จะรักษาหัตถบาส พระต้องขยับเข้าใกล้เอง ซึ่งเป็นลำบากท่าน ฉะนั้นผู้ประเคนควรที่จะเป็นฝ่ายเข้าใกล้
๓) ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้ามาให้ด้วยอาการแสดงความเคารพ
ผู้ประเคนน้อมสิ่งที่ประเคนเข้ามา ใช้สองมือยื่นมาข้างหน้า ไม่ใช่ให้พระไปหยิบจากมือ หรือจากถาดเอง
๔) กิริยาที่น้อมสิ่งของมาให้นั้น จะส่งให้ด้วยมือก็ได้ หรือจะตักส่งให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ใช้ทัพพีตักถวายก็ได้
เวลาประเคนควรที่จะใช้สองมือจับสิ่งนั้น ไม่ใช่ใช้มือข้างขวาจับสิ่งที่ประเคน แล้ว แล้วใช้มือข้างซ้ายจับข้อศอกข้างขวา ถ้ามีของหลายอย่าง ก็ควรที่จะประเคนทีละอย่าง ไม่ใช่มือข้างขวาจับถ้วย มือข้างซ้ายจับจานแล้วประเคนพร้อมกัน ถ้าประเคนของที่มีลักษณะทรงสูง เช่น ขวดน้ำ เวลาประเคนควรใช้สองมือจับข้างล่าง เพื่อให้พระรับข้างบน ไม่ใช่จับข้างบนแล้วให้พระรับใต้มือตน
๕) พระภิกษุผู้รับประเคน จะรับด้วยมือใดก็ได้ จะทอดผ้ารับก็ได้ หรือจะเอาภาชนะรับ เช่น เอาบาตรหรือจานรับของที่เขาตักถวายก็ได้
โดยปกติ ถ้าผู้ชายประเคน พระจะรับด้วยมือตน ถ้าผู้หญิงประเคน พระจะรับด้วยผ้า หรือภาชนะอย่างใดอย่าง พระด้วยกันสามารถรับประเคนแทนกันได้ หมายความว่ารูปหนึ่งรับ แล้วนำไปให้อีกรูปหนึ่งฉันได้ โดยไม่มีโทษ เพราะถือว่ารับประเคนแล้ว