เรื่องที่จะเล่านี้เป็นเรื่องจริง ที่เคยเกิดขึ้นจริง และเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นที่อื่นเช่นกัน
เมื่อหลายปีก่อน ผมได้มีโอกาสไปช่วยงานที่ต่างจังหวัด เจ้าภาพซึ่งเป็นครอบครัวค่อนข้างที่จะมีฐานะหน่อยได้เตรียมจัดงานบุญที่เรียกว่าถวายกองอัฐบริขารเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไป เจ้าภาพซึ่งเป็นอุบาสิกาซึ่งมีปกติเข้าวัดทำบุญโดยปกติอยู่แล้ว ในฐานะผู้เป็นอุบาสิกาทำนุบำรุงวัดวาอารามและถวายการอุปัฏฐากรับใช้พระมาโดยตลอด นางจึงอาศัยความคุ้นเคยนั้นและความปรารถนาดีจึงได้กราบเรียนปรึกษาควรถวายจีวรสีอะไร ผ้าแบบไหน ขนาดกว้างยาวเท่าไหร่ พร้อมกับปวารณาต่อพระให้ท่านชี้แนะบอกกล่าวจีวรที่ท่านสามารถนุ่งห่มได้อย่างไม่ติดขัด พระท่านก็อธิบายว่า พระวัดนี้นิยมใช้จีวรสีนี้ ควรเป็นผ้าสีนี้นะ ผ้าแบบซักง่าย สีไม่ตก เก็บง่าย ห่มสบาย และควรใช้ขนาดนี้จะได้ห่มพอดีไม่รุ่มร่าม
เมื่ออุบาสิกาผู้เป็นเจ้าภาพกลับมาถึงบ้านก็นำเรื่องนั้นมาปรึกษากับครอบครัว ทุกคนเห็นด้วยที่จะจัดหาจีวรตามคำแนะนำของทางวัด แต่มีหนุ่มทหารเรือคนหนึ่งซึ่งมาฐานะเป็นลูกเขยของบ้านพูดในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยว่า “ที่วัดมีจีวรมากมาย จนล้นกุฏิจะล้มทับพระอยู่แล้ว ยังจะเรื่องมากอีก ยังจะเลือกแบบนั้นแบบนี้อีกหรือ”
การเลือกจีวรถวายพระ
คนส่วนมากมักเข้าใจว่า จีวรผืนไหน สีอะไรก็เหมือนกันหมด พระใช้ได้เหมือน ท่านคิดผิดแล้วครับ การเลือกจีวรถวายพระ ควรคำนึงสี ชนิดของผ้า และขนาดของจีวร
สีจีวรถวายพระ
เนื่องจากสมัยก่อนผ้าถูกย้อมด้วยสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ เป็นต้นว่า น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า, น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้, น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้, น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้, น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้, น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ สีที่ได้จึงมีความแตกต่างกันบ้าง พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ระบุสีที่ทรงอนุญาตโดยตรง มีแต่ระบุสีต้องห้าม หมายความว่า ถ้าย้อมออกมาตรงกับสีทรงห้ามแล้วใช้ไม่ได้ สีทรงห้ามได้แก่ สีเขียวครามเหมือนดอกผักตบชวา, สีเหลืองเหมือนดอกกรรณิการ์, สีแดงเหมือนชบา, สีหงสบาท (สีแดงกับเหลืองปนกัน), สีดำเหมือนลูกประคำดีควาย, สีแดงเข้มเหมือนหลังตะขาบ และสีแดงกลายเหมือนสีดอกบัว หรือกล่าวตามสีสมัยใหม่ได้แก่ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด และสีชมพู ด้วยเหตุนั้น พระแต่ละวัด แต่ละประเทศจึงใช้สีจีวรที่แตกต่างกันไป อุบาสกอุบาสิกาผู้มีความศรัทธาจะถวายจีวรเพื่อให้ท่านครองจริง ๆ ไม่ใช่ถวายพอเป็นพิธี ก็ควรที่จะศึกษา สังเกตหรือสอบถามบ้างว่าพระที่วัดนั้นใช้จีวรสีอะไร (ถ้าถวายพอเป็นพิธี สี คุณภาพ ขนาดไม่ได้ พระก็รับเป็นพิธี รับแล้วก็ไม่ได้ใช้จึงวางล้นกุฏิตามที่เล่ากันมา)
คุณภาพหรือชนิดของจีวร
คุณภาพของผ้าจีวรที่จะถวายเป็นส่วนสำคัญ คือเราถวายจีวรพระเพื่อให้ท่านใช้จริง ๆ ไม่ได้ถวายเพื่อให้ท่านนำไปกองไว้ในกุฏิ ฉะนั้น ควรเลือกชนิดของผ้า คุณภาพของจีวร ถ้าเป็นผ้านุ่งหรือที่เรียกว่าสบงไม่ควรบางเกินไป นุ่งสบาย ไม่กัดผิว ถ้าเป็นผ้าห่มที่คนไทยเรียกว่า จีวร ควรเป็นผ้าที่ม้วนลูกบวบห่มสบาย ไม่หนักเกินไป ไม่หนาเกินไป สีไม่หลุดขณะนุ่งห่ม ไม่เป็นผุย รอยตะเข็บเรียบร้อย ไม่ใหญ่เกินไป มีการตัดเย็บถูกต้องตามพระธรรมวินัย ผ้าจีวรที่ขายตามร้านทั่วไป จะเป็นผ้าชนิดไหน นำเข้าจากประเทศใด ราคาเท่าไหร่ ก็ยืนยันได้ว่าไม่ใช่ของหรูออะไร พระสามารถนุ่งห่มได้ตามปกติ
ขนาดของจีวร
ขนาดของจีวรที่นำไปถวายพระก็เรื่องสำคัญอย่างยิ่ง พระแต่ละรูปความสูงไม่เท่ากัน บางรูปผอม บางรูปอ้วน จึงใช้ขนาดจีวรไม่เท่ากัน ถ้าใช้จีวรเกินขนาดของตัวเองก็ทำให้ดูรุ่มราม ไม่เป็นสมณสารูป จะเดินนั่งก็ไม่เรียบร้อย ที่ร้านเขาจะระบุไว้ว่า จีวรขนาดนี้ เหมาะกับพระที่มีความสูงขนาดนี้เป็นต้น
จีวรพระมากมายจนล้นกุฏิ
ข้อนี้ก็มีความจริงอยู่บ้าง พระมีจีวรล้นกุฏิอยู่แล้ว ถวายจีวรแบบไหนก็ได้ เหมือนกันหมดทุกผืน ใคร ๆ ก็คิดกันอย่างนี้ แต่หารู้ไม่ว่าจีวรที่ล้นกุฏินั้นเป็นเพราะจีวรไม่ได้ขนาด หนาหรือบางเกินไปบ้าง ชนิดที่ว่านุ่งห่มแล้วมองทะลุโลกไปเลย มีความแข็งกระด้างเกินไปบ้าง เล็กเกินไปบ้าง ใหญ่เกินไปบ้าง สีไม่ได้ตามความนิยมของวัดนั้นบ้าง
พระใช้จีวรแบบไหนก็ได้ ?
ข้อนี้คุณคิดผิดแล้ว อย่างที่กล่าวมา การเลือกจีวรถวายพระ ควรเลือกสี คุณภาพ และขนาดของจีวร ไม่เช่นนั้นจีวรก็กองล้นกุฏิตามที่กล่าวมา