พระกรุวัดนาคาม หรือ พระกรุวัดนาคคาม, พระกรุนาคาม, พระนาคาม วัดแห่งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า วัดเนกขัมมาราม ตั้งอยู่ที่บ้านนาโพธิ์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
พบพระกรุนาคาม
ราวปี พ.ศ. 2480-2482 พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน ได้มาเป็นประธานสงฆ์เพื่อทำการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถ ขณะที่ทำการรื้อโบสถ์หลังเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมมากแล้วตามกาลเวลาเพื่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้น ได้พบพระเครื่องเป็นจำนวนหนึ่งซึ่งถูกบรรจุไว้อย่างดีในบาตรใต้ฐานพระประธาน นอกจากนั้นแล้วยังพบพระเครื่องถูกบรรจุอยู่ในเจดีย์หน้าโบสถ์จำนวนหนึ่งอีกด้วย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยายุคต้น หรือช่วงปลายสมัยอู่ทอง มีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี
พระที่ถูกค้นพบมีด้วยกันหลายพิมพ์ แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นพระพิมพ์สามเหลี่ยมหรือที่เราเรียกว่านางพญานาคาม พิมพ์อื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ พิมพ์เปิดโลก พิมพ์ห้ามญาติ พิมพ์ยอดธง พิมพ์สะดุ้งกลับและพิมพ์ลอยองค์แบบไม่มีฐานรองรับ
พระกรุนาคามทั้งหมดที่ถูกพบจะเป็นเนื้อชินเงิน เนื้อชินตะกั่ว เนื้อเงินแท้ เนื้อทองคำแท้ และพระเนื้อสัมฤทธิ์ แต่ไม่พบพระเนื้อดินเผาในกรุนาคามแม้แต่องค์เดียว สำหรับพระกรุนาคามองค์ที่ผมนำมาประกอบบทความนี้ เป็นพิมพ์พระพุทธ สะดุ้งกลับ แบบลอยองค์ เนื้อสัมฤทธิ์
พิมพ์สะดุ้งกลับ คือเป็นพระพุทธรูปแบบปางมารวิชัย คือ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้ แต่ที่เรียกว่าพิมพ์สะดุ้งกลับนั้นคือกลับข้างกัน อธิบายว่า พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำลงที่พระชานุ ปางสะดุ้งกลับนี้ไม่มีเหตุการณ์ในพุทธประวัติรองรับ ในพุทธประวัติมีแต่ปางมารวิชัย คือพระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณี
เกี่ยวกับวัดนาคาม
วัดนาคาม มีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า วัดเนกขัมมาราม ตั้งอยู่ที่บ้านนาโพธิ์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช วัดแห่งนี้ เดิมเรียกว่า วัดนากคาม นาก ที่หมายถึงนากกินปลา ไม่ใช่นาคที่เป็นพญางู
ส่วนคำว่า คาม มีอยู่ 2 ความหมาย คือ “คาม” หรือ “คามะ” ที่เป็นภาษาบาลี แปลว่า หมู่บ้าน เช่น ปัจจันตคาม แปลว่า บ้านปลายเขตแดน เวฬุคาม แปลว่าบ้านป่าไผ่ อีกความหมายหนึ่งเป็นภาษาใต้โบราณ แปลว่า ผสมพันธุ์ เรื่องมีอยู่ว่า บริเวณนั้นมีนากเป็นจำนวนมากออกมาหากิน ตัวผู้ตัวเมียมันก็ขึ้นมาผสมพันธุ์กันในบริเวณนั้นแหล่ะ ชาวบ้านพบเห็นบ่อย ๆ จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “นากคาม” หมายถึง สถานที่นากผสมพันธุ์กัน ต่อมาเมื่อมีการสร้างวัดในบริเวณนั้นจึงเรียกว่า “วัดนากคาม”
ต่อมา อาจจะมีบางท่านอยากให้ชื่อวัดดูดีมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงเขียนเป็น นาคคาม ตามนาคที่มีกล่าวถึงในพุทธประวัติ คำว่า นาค ก็มี 2 ความหมาย คือ พญานาค หรือ พญางู หรือนาคตามพุทธประวัติ และ นาค คือผู้เตรียมตัวจะบวช เรียกไปเรียกมานาน ๆ เข้า จากนาคคามก็เพี้ยนเป็นหน้ากามเฉย กลายเป็นวัดหน้ากาม ต่อมีผู้รู้ทักท้วงว่าชื่อนี้ไม่เหมาะสม จึงได้ตั้งชื่อวัดใหม่เป็นวัดเนกขัมมาราม แปลว่า “วัดของผู้ออกจากกาม”
คาถาบูชาพระกรุนาคาม
ปิโย เทวะมะนุสสานัง | ปิโยพฺรหฺมานะมุตตะโม |
ปิโย นาคะสุปัณณานัง | ปิณินทฺริยัง นะมามิหัง |
คำแปล
พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักสูงสุดของพรหมทั้งหลาย ตลอดไปจนถึงดิรัจฉานมีนาคและครุฑเป็นอาทิ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีอินทรีย์อิ่มพระองค์นั้น
ท่านว่า ภาวนาคาถานี้ ดำรงสติให้มั่น อย่าทำร้อนใจ เป็นสารพัดเมตตา เสกหมากกินเป็นที่เสน่หา แก่ชนทั้งหลาย ภาวนาคาถานี้เสกกระแจะ น้ำมันเครื่องหอม หมากพลู เสกข้าวปลาอาหารกินเป็นเสน่ห์แก่คนทั้งหลาย
พุทธคุณ พระกรุนาคาม พิมพ์สะดุ้งกลับ
พระกรุนาคาม สะดุ้งกลับ เชื่อว่ามีพุทธคุณ กลับเรื่องร้าย ๆ ให้กลายเป็นดี ผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้ ที่เบาก็หายไปหมดสิ้นไป กลับดวงให้ดีขึ้น ยากที่ยากให้เป็นง่าย ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ
ข้อมูล : thailandtourismdirectory.go.th