เมื่อเห็นพระเดินแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม ไปตามที่ต่าง ๆ คนไทยส่วนมากมักเข้าใจว่านั่นคือพระธุดงค์
ธุดงค์ คืออะไร
ธุดงค์ แปลตามรูปศัพท์ว่า องค์คุณเป็นเครื่องกำจัดกิเลส, องค์คุณของผู้กำจัดกิเลส หรือ การสมาทานเพื่อเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอันอันตรายต่อสัมมาปฏิบัติ
ธุดงค์ เป็นวัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่พระภิกษุ ไม่มีการบังคับว่าต้องปฏิบัติ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ ซึ่งข้อปฏิบัติที่เรียกว่าธุดงค์นั้นแบ่งเป็น 4 หมวด รวม 13 ข้อ จะปฏิบัติพร้อมกันทั้ง 13 ข้อ หรือเลือกข้อปฏิบัติตามแต่จะปฏิบัติได้ หรือไม่ปฏิบัติเลยก็ได้ ไม่มีความผิดอันใด
ธุดงค์ 13
หมวดที่ 1 จีวรปฏิสังยุต (เกี่ยวกับจีวร — connected with robes)
1. ปังสุกูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คำสมาทานโดยอธิษฐานใจหรือเปล่งวาจาว่า “คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “เรางดคฤหบดีจีวร สมาทานองค์แห่งผู้—” — refuse-rag-wearer’s practice)
2. เตจีวริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร คำสมาทานว่า “จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดจีวรผืนที่ 4 สมาทานองค์แห่งผู้—” — triple-robe-wearer’s practice)
หมวดที่ 2 ปิณฑปาตปฏิสังยุต (เกี่ยวกับบิณฑบาต — connected with almsfood)
3. ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คำสมาทานว่า “อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ, ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดอติเรกลาภ สมาทานองค์แห่งผู้—” — alms-food-eater’s practice)
4. สปทานจาริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร คำสมาทานว่า “โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ, สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดการเที่ยวตามใจอยาก สมาทานองค์แห่งผู้—” — house-to-house-seeker’s practice)
5. เอกาสนิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก คำสมาทานว่า “นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดเว้นการฉัน ณ ต่างอาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้—” — one-sessioner’s practice)
6. ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร คำสมาทานว่า “ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดภาชนะที่สอง สมาทานองค์แห่งผู้—” — bowl-food-eater’s practice)
7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉัน เป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต คำสมาทานว่า “อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดโภชนะอันเหลือเฟือ สมาทานองค์แห่งผู้—” — later-food-refuser’s practice)
หมวดที่ 3 เสนาสนปฏิสังยุต (เกี่ยวกับเสนาสนะ — connected with the resting place)
8. อารัญญิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนู คือ 25 เส้น คำสมาทานว่า “คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ, อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดเสนาสนะชายบ้าน สมาทานองค์แห่งผู้—” — forest-dweller’s practice)
9. รุกขมูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร คำสมาทานว่า “ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มุงบัง สมาทานองค์แห่งผู้—” — tree-root-dweller’s practice)
10. อัพโภกาลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร คำสมาทานว่า “ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มุงบังและโคนไม้ สมาทานองค์แห่งผู้—” — open-air-dweller’s practice)
11. โสสานิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร คำสมาทานว่า “อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ, โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มิใช่ป่าช้า สมาทานองค์แห่งผู้—” — charnel-ground-dweller’s practice)
12. ยถาสันถติกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ คำสมาทานว่า “เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดความอยากเอาแต่ใจในเสนาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้—” — any-bed-user’s practice)
หมวดที่ 4 วิริยปฏิสังยุต (เกี่ยวกับความเพียร — connected with energy)
13. เนสัชชิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ คำสมาทานว่า “เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดการนอน สมาทานองค์แห่งผู้—” — sitter’s practice)
จะเห็นว่า ธุงดงค์ทั้ง 13 ข้อนี้ ไม่มีข้อไหนเลยที่กำหนดว่า ต้องเดินแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม ไปในตามถนนหนทางหรือป่าเขา เดินเป็นวัตรไม่มี สะพายกลดเป็นวัตรไม่มี ไม่ขึ้นรถเป็นวัตรก็ไม่มีเช่นกัน
พระในเมือง อยู่ในห้องแอร์ ก็สามารถสมาทานธุดงค์ เนสัชชิกังคะ ได้ คือไม่นอนในระยะเวลาที่อธิษฐานไว้ สามารถสมาทานธุดงค์ ปิณฑปาติกังคะ คือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรได้ ไม่รับกิจนิมนต์ฉันที่อื่นนอกจากอาหารที่บิณฑบาตได้เท่านั้น แต่คนไทยก็แปลกอีก เมื่อพระท่านไม่รับกิจนิมนต์ ก็กล่าวว่าพระหยิ่ง ไม่ทำกิจของสงฆ์ ทั้งที่จริงท่านอาจจะสมาทานธุดงค์ปิณฑปาติกังคะก็ได้
พระที่ขึ้นรถ นั่งเครื่องบิน เดินทางไปมา ท่านอาจจะปฏิบัติธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งในธุดงค์ทั้ง 13 ข้อนี้ก็เป็นได้

อาจจะมีคำกล่าวว่า “ตำรากับการปฏิบัติจริงมันต่างกันนะ อย่าคาบแต่ตำรามาพูด“
ในข้อนี้ จึงย้อนถามว่า แล้วท่านปฏิบัติธุดงค์ตามใคร ถ้าตามพระพุทธเจ้าก็ต้องปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ควรเรียกว่า ธุดงค์ ตามพระพุทธเจ้า
อาจจะมีคำแย้งว่า ก็ท่านปฏิบัติธุดงค์ตามหลวงปู่องค์นั้นหลวงพ่อรูปนี้ที่ท่านปฏิบัติมาก่อนจนมีเชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ แล้วหลวงปู่หลวงพ่อที่เอ่ยถึงนั้นท่านบวชตามใคร ปฏิบัติตามใคร ทำไมถึงเรียกว่าธุดงค์
การเดินนั้น ก็คือการสัญจรจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งซึ่งมีแต่โบราณ คนและพระสมัยก่อนก็อาศัยการเดินทางด้วยเท้ากันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ การเดินจึงไม่มีในธุดงค์ 13 (เพราะใคร ๆ ในสมัยพุทธกาลที่ไม่มีม้ามีเกวียนก็เดินกันทั้งนั้น ไม่มีความพิเศษอะไร)
ส่วนการสะพายบาตร ย่าม นั่นเป็นบริขารของพระอยู่แล้วที่ต้องมีใช้ประจำตัว ส่วนกลดก็เหมือนมุ้งมีไว้ป้องกันยุง ฝน ลม แดด เวลาที่ต้องพักค้างแรม
ที่เขียนนี้ ไม่ได้ต่อต้านพระที่เดินแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม ไปตามที่ต่าง ๆ ว่าไม่ถูกต้องดีงาม ที่ท่านทำนั้นดีงามแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่ธุดงค์ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ และเราก็ไม่รู้ว่าพระที่เดินแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม ไปตามที่ต่าง ๆ นั้นท่านสมาทานธุดงค์ข้อใดในธุดงค์ 13 ข้อ ถ้าเห็นท่านฝากถามท่านด้วยก็ดี
ข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)