พระรอดละโว้ ปี 2482 เป็นพระเนื้อโลหะ เทหล่อโบราณ มวลสารเข้มขลังลงตัว พระเกจิดังในยุคนั้นร่วมอธิษฐานจิตมากมายที่วัดกำแพง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เพื่อหาปัจจัยทำนุบำรุงซ่อมแซมศาสนสถานภายในวัดที่กำลังทรุดโทรมลงมาก
การสร้างพระรอดละโว้ในครั้งนั้น เป็นการสร้างตามแบบพิธีของวัดดังคือวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร โดยใช้ชนวนจากพระกริ่งรุ่นต่าง ๆ ของทางวัดสุทัศน์หลายรุ่นรวมกัน ตามประวัติกล่าวว่า พระรอดละโวเทหล่อที่วัดสุทัศน์ เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดกำแพง จังหวัดลพบุรี ในวันที่ 19 มีนาคม 2482 ตรงกับวันอังคารขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ ทำพิธีตลอด 3 คืน 2 วัน คือวันขึ้น11-12-13 นอกจากนั้นยังได้นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกถึง 5 วาระด้วยกัน
การอธิษฐานจิตปลุกเสกเป็นการปลุกเสกหมู่โดยมีพระสุทธิพงศ์มุนี ซึ่งเป็นคนถิ่นเมืองลพบุรีเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ประธานในการสร้างคือพระอธิการทองดำ ซึ่งเป็นเจ้าอวาสวัดกำแพง ลพบุรีในขณะนั้น
การสร้างพระรอดรุ่นนี้ กล่าวกันว่าพระสุทธิพงศ์มุนีได้ปรึกษาและทูลขอชนวนโลหะและพิธีการจัดสร้างสมเด็จสังฆราชแพด้วย สมเด็จท่านมีรับสั่งมอบหมายให้ท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์ซึ่งสำเร็จวิชาการสร้างพระกริ่งจากสมเด็จแพโดยสมบูรณ์แล้วเป็นผู้ควบคุมและให้คำปรึกษาในการสร้าง พิมพ์พระรุ่นนี้จึงมีความคล้ายกับพระหล่อของวัดสุทัศน์เป็นอย่างมาก มีบันทึกไว้ที่วัดกำแพงว่า พระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกคือ
ท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์ วัดสุทํศน์
หลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก
เจ้าคุณธรรมทานาจารย์ วัดระฆัง
พระครูปาโมกข์มุนี วัดป่าโมกข์ อ่างทอง
เจ้าคุณสังฆภารวาหมุนี วัดเสาธงทอง ลพบุรี
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) และพระเกจิในยุคนั้นอีกมากมาย
วัตถุมงคลที่สร้างและนำเข้าพิธีในครั้งนั้นมีพระรอดละโว้เนื้อโลหะผสม แหวนเกราะเพชร ธงผ้ายันต์ชนิดต่าง ๆ
พุทธคุณพระรอด ละโว้
ในใบปลิวของวัดกล่าวไว้ว่า พระรอดละโว้เนื้อโลหะที่เกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณทั้งหลายได้ปลุกเสกแล้วนี้ ถือว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก สามารถให้ความสำเร็จตามความปรารถนา มีความแคล้วคลาดปลอดภัยต่อผู้นับถือบูชา ช่วยได้ในยามคับขัน เชื่อกันว่ามีอานุภาพเหมือนได้บูชาพระกริ่งของวัดสุทัศน์เลยทีเดียว
ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต