เว็บไซต์ www.web-pra.com ได้แสดงเหรียญหยดน้ำ ปี 2499 ของหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ที่หน้าทำเนียบหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ไว้ 5 แบบ ได้แก่
- เหรียญปั๊มหยดน้ำ หลัง พ.ศ. 2484
- เหรียญปั๊มหยดน้ำ หลังอุณาโลม
- เหรียญปั๊มหยดน้ำ หลังอุณาโลมอะระหัง
- เหรียญปั๊มหยดน้ำ หลังนะโมพุทธายะ บล็อคไม่มีการันต์
- เหรียญปั๊มหยดน้ำ หลังนะโมพุทธายะ บล็อคมีการันต์
เหรียญหยดน้ำ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ผมนำมาประกอบบทความนี้ เป็นเหรียญปั๊มหยดน้ำ หลังอุณาโลมอะระหัง ซึ่งจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2499 สำหรับแจกให้กับคณะศิษย์ที่มีความศรัทธาในหลวงพ่อจง ลักษณะเป็นเหรียญปั้มทรงหยดน้ำ มีหูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจงครึ่งองค์หน้าตรง ด้านล่างมีอักษรจารึกว่า “อาจารย์จง” ด้านหลังเหรียญเป็นอักขระยันต์ นะโมพุทธายะ ข้างบนมีอักขระขอม อ่านว่า “มะ อุ อะ” ข้างล่างมีอักขระขอม อ่านว่า “อะระหัง หังระอะ”
หลวงพ่อจง ท่านมีนามเดิมว่า “จง” ถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ.2415 ในวันพฤหัสบดี ปีวอก ที่ ต.หน้าไม้ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่ออายุได้ 11 ขวบ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหน้าต่างใน จนเมื่ออายุถึง 21 ปี ในปี พ.ศ.2435 ท่านจึงได้รับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างใน โดยมี “หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ” เป็นพระอุปชฌาย์ “พระอาจารย์อินทร วัดหน้าต่างนอก” เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ “พระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน” เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทธสโร”
ในปี 2450 หลวงพ่อจงท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก
ในปี 2475 – ปี 2483 ได้เกิดสงครามอินโดจีนขึ้น ชื่อเสียงท่านได้เป็นที่ปรากฏทั่วแผ่นดินสยาม เนื่องจากท่านได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อแจกจ่ายให้กับเหล่าทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์สงครามอินโดจีน
วัตถุมงคลของท่านประกอบด้วย เสื้อยันต์สีแดง, ตะกรุดโทน, ตะกรุดคู่ 12 ดอก, ตะกรุดคู่ 24 ดอก, พระเครื่อง, พระหล่อโบราณรูปเหมือน, พระชัยวัฒน์ และเหรียญปั้ม เป็นต้น
มีเรื่องเล่าว่า ท่านเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับอาราธนาให้ขึ้นเครื่องบินเพื่อโปรยทรายเสกป้องกันภยันตรายไม่ให้เกิดขึ้นแก่บ้านเมือง อ่าน ตำนานที่เป็นจริง…คาถาที่หลวงพ่อ จาด จง จันทร์ ใช้เสกโปรยทรายจากบนเครื่องบิน
หลวงพ่อจงท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2508 สิริอายุ 92 ปี 72 พรรษา
บทความแนะนำ…คาถาพระเกจิดัง ยุคสงครามอินโดจีน หลวงพ่อ จาด จง คง อี๋
(ข้อมูลจากอินเตอร์ เว็บไซต์ต่าง ๆ จำไม่ได้แล้วครับ)