ผ้าป่า ครั้งพุทธกาลเรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าที่ถูกทิ้ง ผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ถูกทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ตามถนนหนทางบ้าง ผ้าห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง ผ้าห่อศพที่เขาทิ้งในป่าช้าบ้าง โดยที่สุดจนกระทั่งที่เขานำมาวางไว้แทบเท้า รวมเรียกว่า ผ้าป่า ประเพณีการทอดผ้าป่านั้นมีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือเดิมทีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตแต่เพียงให้พระภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของที่เขาทิ้งแล้ว หรือผ้าที่เขาใช้ห่อศพทิ้งไว้ตามป่าช้า และเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง หรือผ้าที่ถูกลมพัดห้อยอยู่บนกิ่งไม้ เมื่อได้ผ้าบังสุกุลเหล่านั้นมาแล้วก็นำมาซักฟอกตัดเย็บกันเป็นจีวรตามที่ต้องการเพื่อใช้นุ่งห่ม
ต่อมาชาวผู้มีความศรัทธาเห็นความลำบากของพระภิกษุในการแสวงหาผ้าจึงมีความประสงค์จะที่จะถวายความสะดวกแก่พระภิกษุและเป็นการบำเพ็ญกุศลไปในตัวด้วย แต่เพื่อที่จะไม่ให้ขัดต่อพระพุทธบัญญัติจึงได้จัดหาผ้าที่สมควรแก่พระภิกษุนำไปทอดทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ทางเดิน หน้ากุฏิ ป่าช้า หรือที่สุดนำมาวางไว้ข้างหน้า เพื่อให้พระภิกษุผู้แสวงหาผ้าบังสุกุลได้เห็นและนำไปประกอบเป็นผ้าจีวรเพื่อใช้นุ่งห่ม ด้วยการนำเช่นนั้นก็อนุโลมเรียกว่า ผ้าบังสุกุล หรือ ผ้าป่า นั่นเอง เมื่อพระภิกษุเจอเข้า เห็นว่าเจ้าของสละแล้ว ไม่มีใครหวงแหนแล้ว ก็หยิบไปใช้สอยด้วยอาการกิริยาที่เรียกว่าชักผ้าบังสุกุล หรือชักผ้าป่านั่นเอง
คำชักผ้าป่า
อิมัง ปังสุกูละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ
(คำแปล คำชักผ้าป่า หรือ คำชักผ้าบุงสุกุล ผ้าบังสุกุลผืนนี้ เป็นผ้าไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมถึงแก่ข้าพเจ้า)