เคยมีพระอาจารย์รูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านไปเจริญพระพุทธมนต์ในบ้านแห่งหนึ่ง เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อพระไปถึง ผู้เป็นเจ้าบ้านก็ต้อนรับอย่างดี มารอรับพระด้วยตนเองที่หน้าบ้าน แล้วนิมนต์เข้าไปด้านใน เมื่อพระนั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นเจ้าภาพก็เรียกลูก ๆ ทุกคนมากราบพระ แล้วกล่าวว่า “นำน้ำมาเสิร์ฟพระสิลูก”………..
พระอาจารย์รูปนั้น ท่านเล่าว่า บ้านนี้ต้อนรับดีมาก ๆ เมื่อพระเจริญพระพุทธมนต์ก็ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่ส่งเสียงดังโวยวายเรียกใครต่อใคร เสียงโทรศัพท์ดังระหว่างพิธีก็ไม่มี แต่งตัวก็เรียบร้อยกันทุกคน ทั้งลูกสาวและเด็ก แต่ท่านมาสะกิดใจกับคำหนึ่ง ที่ว่าเสิร์ฟ
เรามีภาษาไทยที่ใช้อยู่มาก โดยเฉพาะคำที่ใช้กับพระ เช่น การที่นำน้ำมาต้อนรับพระ ให้ท่านฉัน เราอาจจะใช้คำว่า ถวาย หรือประเคน ซึ่งจะเหมาะกว่า เป็นศัพท์ที่ใช้กับพระสงฆ์ ถวาย ก็คือการมอบให้ มีอยู่สองวิธี คือถวายด้วยกาย เช่น เวลาเช้าพระไปบิณฑบาต ชาวบ้านนำมาอาหารมาใส่บาตร แบบนี้เรียกว่าถวายด้วยกาย (ถวายด้วยการประเคน) หรือพระไปที่บ้าน นำน้ำมาถวาย ท่านรับด้วยมือ แบบนี้ก็ถวายด้วยกาย (ด้วยการประเคน) อีกอย่าง ถวายด้วยวาจา เช่นเวลาบ่าย ๆ เรานำอาหารแห้งไปถวายพระ หรือนำข้าวสารสักกระสอบ หรือน้ำตาลสัก ๑๐ กระสอบ หรือนำรถยนต์สักคันไปถวายพระที่วัด เราก็แค่กล่าวหรือบอกให้ท่านทราบว่าถวาย ไม่ต้องประเคน ไม่ต้องมอบให้ด้วยกาย แบบนี้เป็นการถวายด้วยวาจา
การประเคน คือการมอบสิ่งของให้พระให้ถึงมือด้วยด้วยมือหรือสิ่งที่เนื่องด้วยตัวผู้ถวาย เช่น การใช้ทัพพีตักข้าวใส่บาตรในขณะที่พระเองก็ใช้บาตรรับข้าวนั้น (พระรับของที่เนื่องด้วยกาย เช่น ใช้บาตรรับ ใช้ผ้ารับประเคน)
ส่วนการเสิร์ฟ ไม่ได้เปิดพจนานุกรมดูว่าแปลว่าอะไร แต่นึกถึง เวลาเราเข้าไปที่ภัตตาคารหรือร้านอาหารข้างถนน เมื่อเราสั่งอาหารจะมีบริกรหรือคนขายนำอาหารมาวางไว้ตรงหน้า ไม่ต้องยกให้ด้วยมือ ไม่ต้องกล่าวคำมอบให้ คนสั่งก็ทานได้ทันที อย่างนี้น่าจะเรียกว่าเสิร์ฟ
สรุปคือควรใช้คำให้ถูกต้อง เมื่อใช้กับพระควรใช้คำว่าถวายหรือประเคน ส่วนเสิร์ฟนำมาวางไว้เฉยๆ ควรใช้กับลูกค้า