ในอดีตความเชื่อของคนเรามีความแตกต่างกันไปตามลัทธิ ความเชื่อบางอย่างก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล แต่บางอย่างก็ยังไม่ถูกต้อง เช่น บางคนเชื่อว่ามนุษย์นั้นตายแล้วสูญ จึงทำอะไรก็ได้สุดแท้แต่จะพอใจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เพราะคิดว่าตายแล้วก็สูญไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
แต่บางคนก็เชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ ชีวิตหลังความตายยังมีสิ่งที่เร้นลับรอเราอยู่ จึงไม่กล้าทำสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรม นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ ปนแทรกเข้ามาในชีวิตอีกมากมาย จนกลายเป็นความเชื่อตามลัทธิที่ผิดไปจากหลักแห่งกรรมคือ
1. ปุพเพกตวาท เชื่อว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า ความจริงแล้วยังมีกรรมใหม่ที่มาเกี่ยวข้องอีกต่างหาก จึงถูกเพียงบางส่วน
2. อิศวรนิรมิตวาท เชื่อว่าเทพบันดาล บางคนเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตย่อมเป็นไปตามเทพบันดาล
3. อเหตุวาท เชื่อว่าเป็นไปตามดวง บางคนเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตย่อมเป็นไปตามโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้กล่าวว่า หากใครเห็นว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น เกิดมาจากกรรมเก่าทั้งสิ้น ย่อมเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะโรคภัยไข้เจ็บนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ กรรมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ในทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งกฎเกณฑ์การเจ็บป่วยไว้อย่างแยบคาย 5 ประการดังนี้
อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น ร้อนหรือหนาวเกินไป อุทกภัย วาตภัย
พีชนิยาม เป็นกฎธรรมชาติของพืชพันธ์ หรือ พันธุกรรม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเอดส์ ที่สามารถถ่ายทอดได้กรรมพันธ์
จิตตนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับสภาพจิตใจ หรืออุปทานความนึกคิดที่อาจปรุงแต่งจนเกินไปได้ อาจมีผลกระทบต่อภาวะร่างกาย
กรรมนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เกิดจากการกระทำหรือการแสดงเจตนา เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง
ธรรมนิยาม เป็นกฎที่ว่าด้วยเรื่องเหตุและผล เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป