บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี — bases of meritorious action)
บุญกิริยาวัตถุ (อ่านว่า บุนยะ -) แปลว่า เหตุเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หมายถึงเหตุเกิดบุญ, วิธีการทำบุญ,
วิธีที่เมื่อทำแล้วได้ชื่อว่าทำบุญและจะได้รับผลเป็นความสุข
บุญ หมายถึง ความสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย
คำว่า บุญนี้ เป็นชื่อของความสุข” ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายที่สองนี้ จึงหมายถึงความสุขความเจริญ
อีกอย่างหนึ่ง บุญ หมายถึง การทำความดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงสั่งสมบุญทั้งหลาย อันจะนำ
ความสุขมาให้” ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายนี้ หมายถึงการทำดี เช่น การให้ทาน การรักษาศีล เป็นต้น
บุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ ประการ คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น
๒. ศีลมัย บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริตทางกาย วาจา
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา) และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลส
ทั้งปวง (วิปัสสนาภาวนา)
บุญกิริยาวัตถุ โดยพิสดารมี ๑๐ ประการ คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น
(ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving)
๒. ศีลมัย บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริตทางกาย วาจา
(ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี — by observing the precepts or moral behavior)
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา) และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลส
ทั้งปวง (วิปัสสนาภาวนา)
(ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ — by mental development)
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน
(ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม — by humility or reverence)
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น
(ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ — by rendering services)
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว
(ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น — by sharing or giving out merit)
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว
(ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น — by rejoicing in others’ merit)
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม
(ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ — by listening to the Doctrine or right teaching)
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม
(ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ — by teaching the Doctrine or showing truth)
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง
(ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง — by straightening one’s views or forming correct views)
ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้
ข้อ ๑ และข้อ ๕ จัดเข้าในสีลมัย
๖ และ ๗ จัดเข้าในทานมัย
๘ และ ๙ จัดเข้าในภาวนามัย
ส่วนข้อ ๑๐ ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา
ที่มา :
หนังสือพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด รวบรวมโดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)