ธรรมเป็นอกาลิโก วินัยเป็นอกาลิโกด้วยหรือไม่
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้คาบพระคัมภีร์มาเกิด และไม่ได้คิดที่จะคาบพระคัมภีร์ไปเกิดอีกด้วย อาจจะไม่ใช่บุคคลที่บางคนเรียกว่านักปฏิบัติ อาจจะเป็นคนบ้า ไร้สาระ ผิดระเบียบแบบแผน ตามเข้าใจของบางคนก็ได้ สิ่งไหน เรื่องไหนที่ผุดขึ้นมาในสมองผู้เขียนก่อน ผู้เขียนก็จะเขียนเรื่องนั้นไป แต่ก็คงผุดขึ้นมาจากเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง ได้อ่านมาจากคัมภีร์ ขอให้นักคัมภีร์ทั้งหลาย ไปตรวจสอบตามคัมภีร์เองเถิด
เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก คือไม่จำกัดด้วยกาล คำว่าไม่จำกัดกาล คือธรรมะนั้น เมื่อปฏิบัติแล้วย่อมให้ผลตามกำลังของผู้ปฏิบัติเอง ถ้าเป็นธรรมะหรือการปฏิบัติที่ต้องให้ผลวันนี้ ชาตินี้ ก็ให้ผลได้ในวันนี้ ชาตินี้ ไม่ต้องรออายุแก่เฒ่า ไม่ต้องรอตามลำดับพรรษา ไม่ต้องรอว่าต้องบวชพระบวชเณรก่อนถึงต้องให้ผลหรือบรรลุธรรม ถ้าการปฏิบัติสมควรแก่ธรรม
ได้ยินพระท่านพูดว่า “ให้ผลได้ไม่จำกาลเวลา ไม่เหมือนผลไม้ที่ต้องรอฤดูกาล”
อีกอย่างหนึ่ง การให้ผลแห่งการปฏิบัติ ไม่ต้องรอพระศาสดามาประสิทธิ์ประสาทให้ ไม่เหมือนบางลัทธิ ที่ต้องบำเพ็ญนั่งบนตะปูรอเป็นสิบ ๆ ปีหรือทั้งชาติ เพื่อรอให้พระเจ้ามาประสิทธิ์ประสาทพรให้ หรือต้องสวดอ้อนวอนจนศาสดาพอใจจึงประสิทธิ์สิ่งที่พระศาสดามีให้
ที่นี้กล่าวถึงวินัย บางคนแยกไม่ออกว่าอันไหนธรรม อันไหนวินัย
ทราบว่า วินัยของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์บัญญัติไม่เท่ากัน จำนวนข้อไม่เท่ากัน น้อยบ้าง มากบ้าง และบางพระองค์อาจจะไม่ได้บัญญัติพระวินัยไว้เลย ทำให้เข้าใจว่าวินัยของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไม่เหมือนกัน การบัญญัติ เป็นไปตามเหตุ ตามบุคคล สถานที่ เวลา
- บัญญัติพระวินัยตามบุคคล เช่น ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ ผู้หลงลืมสติเพราะเวทนาอย่างหนัก ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ไม่ผิดพระวินัย หรือภิกษุที่เลือดออกที่ไรฟันแล้วเผลอกลืนเข้าไป ไม่ต้องผิดเพราะดื่มเลือดมนุษย์ มีหลายข้อที่อนุโลมตามบุคคล
- บัญญัติพระวินัยตามสถานที่ เช่น ภิกษุที่ในมัธยมประเทศ 10 รูป ขึ้นไป จึงทำการบวชพระได้ แต่นอกมัธยมประเทศ 5 รูปขึ้นไปก็บวชได้
- บัญญัติพระวินัยตามเวลา เช่น ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส ไม่ต้องอาบัติเพราะอยู่ปราศจาคไตรจีวร
- พระพุทธองค์มีการเพิ่ม เลิกถอน หรือผ่อนปรนพระวินัย เช่น พระมหากัจจายนะขออนุญาตให้พระ ๕ รูปขึ้นไปสามารถบวชพระได้นอกมัธยมประเทศ พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตตามนั้น
- พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ถ้าสงฆ์มีความปราถนาจะยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อย ก็พึงยกเลิกได้ แต่ในการสังคายนาครั้งที่หนึ่งนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ทำการสังคายนา ไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำว่าเล็กน้อยได้ว่าคือข้อไหน บางพวกบอกว่ายกเว้นปาราชิก นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย บางพวกกล่าวว่ายกเว้นปาราชิกและสังฆาทิเสส นอกนั้นเป็นอาบัติเล็กน้อย ไล่ลงมาเรื่อย ๆ จนสรุปไม่ได้ว่าข้อไหนกันแน่ จึงทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า แม้แต่พระอรหันต์ก็มีความเห็นด้านพระวินัยไม่ตรงกัน แต่ในเรื่องธรรมท่านมีความเห็นตรงกัน บรรลุเหมือนกัน คือได้วิมุตติรสเหมือนกัน
- เรื่องสิกขาบทเล็กน้อย ผู้เขียน (พระคุ้มครอง) ก็ยังมีความเห็นต่างอีก เช่น คำว่าเล็กน้อย หมายถึงข้อหนึ่งหรือสองข้อถึงว่าเล็กน้อย หรือตามความหนักเบาขออาบัติ เช่น อาบัติเบาถึงแม้มีร้อยข้อก็ชื่อว่าเล็กน้อย ผู้เขียนยังไม่ได้ดูต้นฉบับบาลีว่าท่านใช้ศัพท์ไหน นักวินัยทุกวันนี้ อาจจะกล่าวว่าปาราชิก และสังฆาทิเสส คือครุกาบัติ คืออาบัติหนัก ข้อนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าได้มติมาจากพระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ขึ้นชื่อเมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๐๐ ไม่ใช่มติของพระอรหันต์ผู้ทำการสังคายนา
ผิดหรือถูกอย่างเทียบ นักคัมภีร์ นักศาสนา นักวินัย ไปเทียบเคียงดูตามหลักมหาปเทสเอง และขอให้ยึดถือตามนั้น นั่นคือวิธีการปฏิบัติ ไม่ต้องสนใจผู้เขียนว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เรียนจบอะไร ผู้เขียนไม่มีอะไร อาจจะเป็นคนบ้าคนหนึ่งก็ได้