พระอรหันต์มีจริงหรือไม่
พระอรหันต์มีจริงหรือไม่ บางคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องปั้นขึ้นเพื่อให้คนเห็นเป็นอัศจรรย์แล้วเลื่อมใสในศาสนา ?
ทำไมพูดอย่างนั้นละ ?
การพูดเช่นนี้ออกไม่ค่อยดีนัก สำหรับคนที่ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิก เพราะว่าพระอรหันต์เป็นบุคคลที่บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา มีตัวอย่างบุคคลผู้ใด้บรรลุในระดับนี้ให้รู้ให้เห็นกันในประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่มีเฉพาะอินเดียประเทศเดียวเท่านั้น การพูดในทำนองปฏิเสธจึงเป็น
มิจฉาทิฏฐิ ข้อที่ปฏิเสธว่าไม่มีสมณะ พราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบ
อริยุปวาท คือการกล่าวตู่พระอริยเจ้าไม่เป็นมงคลเลยจริง ๆ
แต่เอาเถอะ เมื่ออ้างว่าเป็นคำกล่าวของคนอื่นจะได้ให้ข้อสังเกต เพื่อเป็นเครื่องพินิจ พิจารณาด้วยการอาศัยสติปัญญาระดับธรรมดาๆก็จะเกิดความเข้าใจและยอมรับ
ความเป็นพระอรหันต์ท่านกำหนดกันด้วยอะไร ?
ความเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านกำหนดเอาที่ความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จนสามารถละสังโยชน์คือกิเลสที่ผูกใจสัตว์ออกได้สิ้นเชิงคือ
- ละความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน
- ความลังเลสงสัยในเรื่องต่าง ๆ
- การถือเรื่องขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อย่างขาดเหตุผล
- ความกำหนัดรักใคร่ในรูปเสียงเป็นต้น
- ความไม่พอใจกระทบกระทั่งทางใจ
- ความหลงติดในรูปธรรมและรูปฌาน
- ความยึดติดในนามธรรมและอรูปฌาน
- ความถือตัวถือตนยกตนข่มท่าน
- ความคิดพล่านขาดความสงบทางจิต
- ความหลงงมงายไม่รู้จริง
ให้สังเกตว่าสังโยชน์เหล่านี้ แม้แต่คนธรรมดาความรู้สึกในลักษณะต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ไม่ได้ครอบงำบังคับจิตใจคนอยู่ตลอดเวลา คนธรรมดา ๆ จึงมีความรู้สึกเหล่านี้มากน้อยแตกต่างกัน เมื่อบุคคลเหล่านี้หันมาฝึกฝนจิตไปตามหลักที่ทรงแสดงไว้จะพบว่าท่านเหล่านั้นมีความรู้สึกเช่นนั้นเบาบางลง ผิดจากสามัญชนลงไปมากซึ่งอาจสังเกตได้ทั้งจากนักบวชและชาวบ้านที่ปฏิบัติธรรม
หากท่านปฏิบัติไปตามหลักการและวิธีการที่ทรงแสดงไว้จึงไม่น่าสงสัยว่าท่านจะละกิเลสเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปไม่ได้
อีกประการหนึ่งหากว่ามรรคผลในพระพุทธศาสนาไม่มีอยู่จริงแล้ว นักปราชญ์ คณาจารย์ในสมัยพุทธกาลและสมัยต่อๆมาเป็นอันมาก คงไม่ยอมสละฐานะตำแหน่งของท่านมาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาหรอก
ในสายตาของชาวบ้านนั้น ความมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติตำแหน่ง ยศ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกคน แต่ตามประวัติที่บันทึกไว้ในที่ต่างๆ ปรากฏว่าพระราชา เศรษฐีเป็นอันมาก ยอมสละความสุขในการปกครองเรือนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เขาจะสละทำไม หากไม่มีสิ่งทีดีกว่าสมบัติเหล่านั้น ?
พระอรหันต์เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติอย่างมีขั้นตอน ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทั้งได้บอกผลที่คนจะพบเห็นได้ในระหว่างทางที่ก้าวเดินไป เพื่อความเป็นพระอรหันต์ คนที่ต้องการพิสูจน์จึงไม่ยากเย็นอะไรที่จะพิสูจน์ดูว่ามีจริงหรือไม่
“การปฏิเสธเรื่องอะไรก็ตามควรทำหลังจากตนที่ตนได้พิสูจน์ทดสอบตามกรรมวิธีที่ท่านแสดงไว้เสียก่อน ไม่ใช่ทำแบบคนตาบอด
ปฏิเสธความมีอยู่ของสีต่างๆ โดยอาศัยเหตุเพียงตนไม่เห็นอย่างเดียวทำเช่นนั้น ออกจะไร้เหตุผลมากไป”
จากอดีตกาลถึงปัจจุบัน คนระดับปัญญาชนในประเทศต่างๆได้สละความสุขส่วนตน เพื่อมุ่งผลที่เกิดจากความสงบจากกิเลส ไม่อาจจะนับจำนวนได้ หากท่านไม่ได้สัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งความสงบบ้างแล้ว ท่านคงไม่ทรมานกายให้ได้รับความลำบากอยู่หรอก
พระอรหันต์นั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์พระองค์แรกในพระศาสนานี้ การปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะอาสวะทั้งหลายที่พระอรหันต์ควรละได้ พระองค์ทรงละได้แล้ว ถือเป็นเวสารัชญาณคือพระญาณที่ทำให้พระองค์ทรงกล้าหาญปฏิญาณตนออกไปเช่นนั้นประการหนึ่ง
ในโลกนี้ไม่มีใครน่าเชื่อถือมากกว่าพระพุทธเจ้า หากไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่ทราบว่าควรจะเชื่อใครได้อีกแล้ว
พระพุทธศาสนานั้นไม่มีเหตุผลอันใดที่ต้องปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาหลอกคน
หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็น
เอหิปสฺสิโก คือ เชิญชวนให้มาพิสูจน์ทดสอบได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะโดยใคร? ที่ไหน? เมื่อไร? ย่อมพิสูจน์ได้เพราะว่าหลักธรรมนั้นเป็น
อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล คือ ไม่ถูกกำหนดด้วยกาลเวลาแต่ประการใด ขอเพียงแต่บุคคลได้
โอปนยิโก น้อมนำพระธรรมมาปฏิบัติ โดยสมควรแก่ธรรมแล้ว เขาเหล่านั้นจะ
เข้าถึง
สนฺทิฏฺฐิโก คือ ประจักษ์ชัดซึ่งผลแห่งธรรมด้วยตนเอง เหมือนคนบริโภคอาหารแล้วรู้รสของอาหารด้วยตนเอง เพราะว่าพระธรรมนั้น เป็น
ปจจตตํ เวทิตพโพ วิญญูหิ อันวิญญูชนจะรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น
ความมีอยู่ของพระอรหันต์บุคคลก็อาจจะยอมรับนับถือเชื่อโดยวิธีดังกล่าวแล้ว
เช่นกัน.
จากคุณบทหรือคุณธรรมของพระอรหันต์ที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า ไม่เกี่ยวกับการมีชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ (แต่ไม่ได้หมายความว่าพระอรหันต์จะไม่มีชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญนะ เพียงแต่ไม่เกี่ยวกัน) ไม่เกี่ยวกับการปลุกเสกเลขยันต์ ไม่เกี่ยวกับการแสดงปาฏิหารริย์ใด ๆ (แต่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าท่านจะมีหรือไม่มี แต่ความเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องตัดสิน)