“ห้ามแมวกระโดดข้ามโลงนะ ไม่งั้นผีจะลุกขึ้นมาอาละวาด” ถ้าเป็นเมื่อสมัย 30 -40 ปีก่อน ถ้าผมได้ยินคำนี้ คงต้องกลัวจนหัวหดแน่ (จริง ๆ หัวบนบ่ามันหดไม่ได้) แต่ทำไมโบราณถึงได้กล่าวห้ามเช่นนั้นล่ะ ผมเองก็ไม่ได้ศึกษา ได้แต่เดา ๆ เอาตามความคิดของผมเอง
ทำไมถึงห้ามแมวดำกระโดดข้ามโลงศพ
- สมัยก่อนและสมัยนี้ก็เหมือนกัน ญาติผู้ตายจะจัดอาหารคาวหวานไว้ข้าง ๆ โลงศพ นัยว่าเพื่อให้ผู้ตายได้กินอิ่ม ไม่หิวโหย และอาหารจะอะไรล่ะ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ส่วนมากก็จะเป็นปลาย่างบ้าง เนื้อย่างบ้าง ข้าวสวย ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของเจ้าเหมียวไม่ว่าจะดำหรือลายก็ตาม จึงต้องให้เด็กหรือคนเฝ้าไว้ (ส่วนมากเด็กไม่กล้าเฝ้าหรอก) และคนสั่งผู้เฒ่าก็จะพูดขู่กำชับเพื่อไม่ให้ละหน้าที่ว่า “ห้ามแมวหมามากิน โดยเฉพาะแมวดำ ถ้ามันได้กระโดดข้ามโลงแล้ว จะทำให้ศพลุกขึ้น และจะทำให้เฮี้ยน เราเอาไม่อยู่” คนถูกขู่ก็ต้องทำอย่างเต็มที่
- สมัยก่อนไฟฟ้าไม่มีหรอก ตะเกียงน้ำมันก็หรูแล้ว พอได้เห็นวับ ๆ แวม ๆ พอได้จินตนาการว่าอะไรคืออะไร แต่เจ้าแมวทั้งหลายเป็นสัตว์ย่องเงียบ ชอบอยู่ในที่มึด ๆ เงียบ ๆ ด้วย พอคนเข้าไปใกล้ มันกระโจน ตกใจทั้งแมวทั้งคน เพื่อไปให้เกิดความแตกตื่นตกใจกันไปทั่ว คนยิ่งขวัญเสียอยู่ด้วย เขาจึงห้ามแมวเข้าใกล้บริเวณที่ตั้งศพ จำไว้นะเจ้าเหมียวทั้งหาย ห้ามเข้าใกล้
- ผู้ที่นอนอยู่ในโลงนั้น เป็นญาติมิตร เป็นพ่อ แม่ เป็นญาติผู้ใหญ่ หรือเป็นผู้ที่เคยร่วมสุขร่วมทุกข์กับเรา ฉะนั้น เมื่อเขาละโลกนี้ไปแล้ว จึงควรที่จะปฏิบัติต่อเขาด้วยดี โดยการเฝ้าระวังไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ เข้ามากระโดดข้ามไปมา ก็รู้ ๆ อยู่ว่าเจ้าเหมียวเป็นนักยิมนาสติกแค่ไหน จึงต้องเฝ้าคอยระวังและห้ามเป็นพิเศษ
- อีกประการหนึ่ง คนสมัยโบราณจนถึงสมัยนี้มีความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง มีความเชื่อเรื่องน้ำมันพราย นั่นอาจจะเป็นกุศโลบายของผู้เฒ่า ให้เราได้เฝ้าระวังศพไว้ก็ได้ ไม่ให้ใครมาขโมยไปเพื่อใช้ทำพิธีกรรมเกี่ยวกับไสยศาสตร์
ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้ ก็พยายามคิดในแง่ดีเข้าไว้ แต่ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยเห็นแมวดำกระโดดข้ามโลงศพสักที มีแต่เรื่องเล่าเสริมเติมให้น่ากลัวครับ