การผจญมารก่อนการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ ได้มีเหตุการณ์มารผจญเกิดขึ้นกับพระองค์ ดังในพุทธประวัติได้กล่าวว่า เมื่อวันเพ็ญเดือนหก ก่อนการตรัสรู้ไม่นานนัก ขณะที่พระสิทธัตถะกำลังนั่งบำเพ็ญเพียรทางจิตที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ได้มีเหล่ามารจำนวนมาก ถือหอกดาบและอาวุธอื่น ๆ มุ่งหน้ามาที่ประทับของพระองค์ เพื่อจะมาขัดขวางทำลายมิให้ได้ตรัสรู้ มารได้กล่าวหาว่าพระสิทธัตถะมาแย่งบัลลังค์ที่ใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นเป็นของตนไป จึงมาเรียกร้องคืน โดยได้อ้างพยานที่เป็นมารพวกเดียวกัน ขณะนั้น พระพุทธองค์ไม่อาจหาใครเป็นพยานได้ว่าที่บัลลังค์ที่นั่งนั้นเป็นของพระองค์ จึงทรงยื่นพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นดินเพื่อขอให้แผ่นดินเป็นพยาน ทันใดนั้น ได้มีแม่นางธรณีผุดขึ้นจากพื้นดิน เพื่อเป็นพยานให้กับพระองค์ พร้อมบีบมวยผมเป็นน้ำท่วมเหล่ามารจนพ่ายแพ้ไป ซึ่งน้ำที่ออกจากมวยผมนั้น เป็นน้ำที่พระพุทธองค์เคยกรวดไว้ตอนที่ทรงบำเพ็ญบารมีทุก ๆ ชาติ จึงรวมเป็นน้ำจำนวนมหาศาลมาช่วยพระองค์ให้ชนะมารได้
เมื่อเหล่ามารได้พ่ายแพ้ไปแล้ว จึงได้คิดหาวิธีการใหม่ ที่จะเอาชนะพระพุทธองค์ให้ได้ก่อนที่จะตรัสรู้ เมื่อเห็นว่าใช้ไม้แข็งไม่ได้ผลจึงได้ลองใช้ไม้อ่อนบ้าง แล้วจึงส่งลูกสาวมาร (ธิดามาร) ๓ คน ได้แก่ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา มายั่วยวนให้พระองค์หลงใหล แต่ก็ไม่สำเร็จ พระทัยของพระองค์คงหนักแน่นตามที่ได้อธิษฐานจิตไว้ จนได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในลำดับต่อมา หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว มารจึงหมดโอกาสที่จะขัดขวางรังควานได้อีกต่อไป
มาร ในพระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งที่มารบกวนขัดขวางมิให้บรรลุถึงสิ่งที่ดีงาม มี ๕ ประการ ได้แก่
(๑) กิเลสมาร มารคือกิเลสที่เกิดกับใจ
(๒) ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕ อันเป็นองค์ประกอบของชีวิต ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งองค์ประกอบทั้งห้านี้ มีความแปรปรวนและเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ
(๓) อภิสังขารมาร มารคือความนึกคิดปรุงแต่งที่คิดไปในทางลบ
(๔) เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร ซึ่งอาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นกามาวจร คอยขัดขวางการทำความดีของผู้อื่น
(๕) มัจจุมาร มารคือความตาย ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางโอกาสที่จะได้พบกับสิ่งที่ดีงาม
แต่มารที่เกิดกับพระพุทธองค์นั้น หมายถึงมารคือกิเลสที่เกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์ ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางมิให้ตรัสรู้ อันได้แก่การต่อสู้ทางความคิดของพระองค์ระหว่างกิเลสกับธรรมะ ด้านหนึ่งมุ่งจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า แต่อีกด้านหนึ่งยังคิดถึงความสะดวกสบายในอดีตและความทุกข์ทรมานในการบำเพ็ญเพียร
กิเลสมารที่มาผจญพระองค์ในครั้งนี้ มิใช่เป็นครั้งแรก เมื่อตอนที่พระสิทธัตถะออกผนวช ก็ได้มีมารมาขัดขวางมิให้ออกบวชเช่นกัน มารนั้นหมายถึงกิเลสที่จะทำให้เกิดความลังเลในการออกบวช และเลิกล้มความตั้งใจ แต่พระองค์ก็ทรงชนะมารได้ทุกครั้ง
มารที่มาผจญพระองค์ตอนก่อนตรัสรู้นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นกิเลสสองด้าน คือด้านแรกเป็นกิเลสด้านอนิษฐารมณ์ (กิเลสฝ่ายลบ) คือความไม่ชอบใจ ความขัดเคือง ความย่อท้อ กับความทุกข์ยากลำบากที่ประสบ ซึ่งเปรียบเหมือนมารที่ดุร้าย
กิเลสด้านที่สอง เป็นด้านอิฎฐารมณ์ (กิเลสฝ่ายบวก) คือความยินดี ชอบใจ ความเพลิดเพลินลุ่มหลงในความสุขสบายต่างๆ ที่จะทำให้พระองค์ระลึกถึงความสุขในครั้งตอนเป็นเจ้าชาย เปรียบเหมือนกับธิดามารที่งดงามมายั่วยุให้หลงใหลยินดี
กิเลสมารทั้ง ๒ ด้านนี้ พระพุทธองค์ทรงชนะได้ด้วยพระทัยที่หนักแน่น และบุญบารมีที่สั่งสมมานับ ๔ อสงไขย แสนกัปป์ จึงรวมเป็นพลังสามารถเอาชนะมารได้
โดย พระมหาบุญเพียร ปุญญวิริโย จากสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ชุด พุทธประวัติ ฉบับ CD-ROM จัดทำโดย ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ห้องเรียนวัดศรีบุญเรือง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ข้อความข้างตนเป็นคำอธิบายของท่านพระมหาบุญเพียร ปุญญวิริโย ซึ่งผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ผมขออธิบายเสริมอีกนิด
- พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับมารไว้ในที่ต่าง ๆ ไม่ได้ตรัสไว้ครบ ๕ ในที่เดียว และไม่ได้ตรัสว่ามารมีแค่ ๕ คือตรัสไว้ในที่ต่าง ๆ ที่ละมารสองมาร พระอาจารย์ทั้งหลายนำมารที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วนั้นรวมกันนับได้ ๕ เราจึงกล่าวว่ามาร ๕
- มารที่เกิดขึ้นก่อนการตรัสรู้นั้น กล่าวว่าเป็นกิเลสมารที่เกิดขึ้นกับพระทัยของพระองค์ แต่หลังจากตรัสรู้แล้ว กิเลสมารย่อมพินาศไป ฉะนั้น มารที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ จึงไม่ใช่กิเลสมาร