พระไม่ได้จำพรรษา หรือพรรษาขาด นับพรรษาหรือไม่
เย เกจิ มีอาจารย์พวกใดพวกหนึ่งกล่าวว่า ถ้าพระขาดจากจำพรรษา ไม่ได้จำพรรษา แล้วไม่ให้นับพรรษา โดยส่วนตัวก็พยายามหาข้อมูลในเรื่องนี้ว่าจริงไหม พระเรามีการแซงพรรษากันอย่างนั้นหรือ มีการเปลี่ยนแปลงอาวุโส ภันเต อย่างนั้นหรือ แต่ก็ไม่เห็นที่มาที่ไปที่สามารถอ้างอิงได้ ส่วนมากฟังมาจากอุปัชฌาย์อาจารย์ แต่ไม่มีคัมภีร์รองรับ ครูอาจารย์ถึงท่านจะมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วโลกก็ตาม ท่านก็บวชตามคุณสมบัติที่คัมภีร์กำหนดไว้ เช่น กำหนดว่า ต้องท่องกล่าวอย่างนี้ มีอายุครบเท่านี้ ใช้พระสงฆ์เท่านี้รูป บวชในสถานที่คุณสมบัติแบบนี้ๆๆ ฉะนั้นคำสอนของท่านต้องไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่มาในคัมภร์ ที่กำหนดให้ท่านบวช เรื่องพระไม่ได้อยู่จำพรรษา นับพรรษาหรือได้ไม่ ขอให้ท่านอ่านข้อความด้านล่าง ถ้าใครมีความเห็นต่าง โปรดอ้างมาที่เป็นพระไตรปิฎก หรืออรรถกถา ฏีกาต่าง ๆ แต่ถ้าไปอ้างพระอาจารย์รูปนั้น รูปนี้ ไม่จบ เพราะแต่ละท่านมีอาจารย์ไม่เหมือนกัน ผมก็มีอาจารย์ผม ท่านก็มีอาจารย์ของท่าน แบบนี้ไม่จบ มี ๑๐๐ อาจารย์ ก็ ๑๐๐ ความเห็น
วินิจฉัยเรื่องการนับพรรษาของภิกษุที่ขาดพรรษา
ถามว่า ภิกษุที่ขาดพรรษาจะนับพรรษานั้นได้หรือไม่?
มีภิกษุสามเณรและชาวพุทธจำนวนมากเข้าใจว่า ถ้าภิกษุขาดพรรษา (หมายถึง เข้าจำพรรษาแล้วไปรับอรุณในที่อื่นจากวัดที่จำพรรษาโดยมิได้สัตตาหกรณียะ) หรือไม่ได้จำพรรษา พรรษานั้นจะนับไม่ได้ เช่น ถ้าจำพรรษานั้นครบ จะมีพรรษา ๕ แต่พอพรรษาขาดก็กลายเป็นมีพรรษา ๔ เท่าเดิม เป็นต้น ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
ความจริง การที่ไม่ได้เข้าจำพรรษา หากไม่มีเหตุที่สมควร ก็จะต้องอาบัติทุกกฏ ส่วนการที่เข้าจำพรรษาแล้วขาดพรรษา หากขาดพรรษาโดยไม่มีเหตุที่สมควร ก็จะทำให้ต้องอาบัติทุกกฏ (ดูรายละเอียดในวัสสูปนายิกขันธกะ) และภิกษุที่ไม่เข้าจำพรรษาหรือพรรษาขาดนี้จะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา ๔ อย่างมีการฉันคณโภชนะได้เป็นต้นตลอด ๑ เดือนหลังออกพรรษา และไม่มีสิทธิ์ในการกรานกฐินเท่านั้น (ถ้าได้กรานกฐินจะได้อานิสงส์เพิ่มอีก ๑ ข้อ คือเพิ่มข้อสามารถอยู่ปราศจากไตรจีวรได้และจะได้อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้เพิ่มอีก ๔ เดือนหรือจนกว่ากฐินจะเดาะ) (ดูรายละเอียดในกฐินขันธกะ) ไม่ได้เกี่ยวกับจะนับพรรษานั้นไม่ได้แต่อย่างใด เพราะพรรษาของภิกษุที่เรียกว่า ๑ พรรษา ๒ พรรษาเป็นต้นนั้น ไม่ได้หมายถึงเข้าจำพรรษามา ๑ พรรษา แต่หมายถึงอุปสมบทมาครบ ๑ ปีก็เรียกว่า ๑ พรรษา โดยคำว่า พรรษา ในเรื่องนี้แปลว่า ปี (ถ้าจะยกตัวอย่างการใช้คำว่า พรรษา ในความหมายว่า ปี ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็ดูได้อย่างเรื่องพระชนม์พรรษาของในหลวงที่ใช้คำว่า พรรษา เช่นกันโดยที่ในหลวงมิได้เข้าพรรษาแต่อย่างใด)
โดยนัยเดียวกัน แม้จะจำพรรษาครบแล้ว แต่ถ้ายังอุปสมบทไม่ครบ ๑ ปี ก็ยังไม่จัดว่าอุปสมบทได้ ๑ พรรษา
อนึ่ง ในอรรถกถาของธรรมบทและชาดก เมื่อจะกล่าวถึงพรรษาของภิกษุ ก็มักจะกล่าวโดยมีคำว่า อุปสมฺปทาย (โดยการอุปสมบท) เช่นในตัวอย่างว่า
อุปสมฺปทาย ปญฺจวสฺสิโก หุตฺวา (ชา.อฏฺ.๑/๑๕๕ วณฺณุปถชาตกวณฺณนา) เป็นผู้มีพรรษา ๕ โดยการอุปสมบท (หรือแปลอีกสำนวนว่า เป็นผู้อุปสมบทได้ ๕ พรรษา)
จะเห็นได้ว่า ท่านนับพรรษาโดยมุ่งถึงการอุปสมบท หาได้มุ่งถึงการเข้าจำพรรษาไม่
และในฎีกาท่านก็แสดงไว้ว่า
ปญฺจวสฺโส”ติ อุปสมฺปทโต ปฏฺฐาย ปริปุณฺณปญฺจสํวจฺฉโร. ทสวสฺโสติ เอตฺถ เอเสว นโย. สํวจฺฉรวเสน ปญฺจวสฺเสสุ ปริปุณฺเณสุ วุตฺถวสฺสวเสน อปริปุณฺเณสุปิ ปญฺจวสฺโสเยว. (วินยวินิจฺฉยฏีกา อธิบายคาถา ๑๑๓๙)
คำว่า มีพรรษาห้า หมายถึง นับตั้งแต่อุปสมบทได้ ๕ ปีบริบูรณ์. แม้ในคำว่า มีพรรษาสิบ ก็นัยนี้เช่นกัน. พึงทราบว่า เมื่อมีพรรษา ๕ บริบูรณ์ด้วยอำนาจแห่งปี ถึงจะมีพรรษา ๕ ไม่บริบูรณ์ด้วยอำนาจแห่งพรรษาที่เข้าจำแล้ว ก็จัดว่าเป็นผู้มีพรรษา ๕ นั่นเอง
หมายเหตุ : ถ้าภิกษุไม่ได้จำพรรษาแรกหรือพรรษาแรกขาด ก็ต้องเข้าจำพรรษาหลัง ไม่ควรเที่ยวจาริกไปตลอด ๓ เดือน (ขุททสิกขา คาถา ๓๑๒)
พระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท (Maha Silanunda)
จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม ขอพระสัทธรรมจงดำรงมั่นตลอดกาลนาน