การบูชาในทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่การสวดอ้อนวอน หรือทำเพื่อเอาอกเอาใจพระศาสดาหรือเทพเจ้าเพื่อให้เทพเจ้าหรือพระศาสดาของตนพอใจแล้วประทานสิ่งที่ต้องการให้แก่เรา หรือเพื่อให้พระศาสดาเป็นผู้ตัดสินให้เราไปสู่นรกหรือไปสู่สวรรค์
แต่การบูชาในพระพุทธศาสนานั้น เน้นสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ทำการบูชาเอง ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง ด้วยการกระทำของเราเอง โดยที่ไม่ต้องรอให้คนที่เราบูชาพอใจหรือรับรู้ก่อนแล้วค่อยประทานให้
ผู้รู้กล่าวว่า….อานิสงส์ของการบูชาบุคคลที่ควรบูชานั้น มีอยู่หลายประการ
๑.ยังความเห็นถูกที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
๒.ยังความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๓.ทำให้มีกิริยามารยาท สุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ
๔.ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะตรึกอยู่ในกุศลธรรมเสมอ
๕.ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้น เพราะมีความสำรวมระวังเป็นการป้องกันความประมาท
๖.ป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะตระหนักอยู่เสอมว่าผู้ที่มีคุณธรรมสูง กว่าตนยังมีอยู่
๗.ทำให้เกิดกำลังใจและอานุภาพอย่างมหาศาล สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยพาลต่าง ๆ ได้
๘.เป็นการกำจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อมเพราะมีแต่คนบูชาบัณฑิตผู้มีคุณธรรม
๙.เป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่น ทำให้ท่านสามารถบำเพ็ญกรณียกิจได้สะดวกกว้างขวางยิ่งขึ้น
จะเห็นว่าที่กล่าวมาทั้งหมดหลายข้อ ล้วนเป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บูชาเอง ด้วยการกระทำเอง ก็คุณธรรมที่เราสร้างขึ้นนี่แหล่ะ คือคุณความดีที่จะสร้างความสุขให้แก่ตัวเราและสังคม และเป็นเครื่องชี้วัดตัดสินว่าเราจะไปสู่นรกสวรรค์เอง