คุณรู้จักคำว่าโลกวัชชะอย่างไร ถูกต้องหรือไม่
ผมไปเจอบทความหนึ่งชื่อว่า “ปัณณัตติวัชชะ และโลกวัชชะ คำที่คนไทยยัง เข้าใจผิด” บนเว็บไซต์ mahabunhome.com ข้อความโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ป.ธ.๕,นธ.เอก,ศษ.บ.,MPA.(นิด้า) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐ ซึ่งท่านเขียนไว้ดีมาก ๆ ผมขออนุญาตนำข้อความบางส่วนนำไว้ในบทความนี้
สิกขาบททั้งหมด มีโทษ 2 อย่าง
สิกขาบททั้งหมด มีโทษ ๒ อย่าง ได้แก่
1. ปัณณัตติวัชชะ เป็นโทษทางพระวินัย
2. โลกวัชชะ เป็นโทษทางโลก/ผิดกฎหมาย
ปัณณัตติวัชชะ แปลว่า โทษทางพระวินัยบัญญัติ/ประพฤติผิดศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ หมายถึงการที่พระกระทำผิดพระวินัย หรือทำผิดศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เช่น โกหก ด่าภิกษุ ฉันอาหารที่ไม่มีผู้ประเคน มีเจตนาฆ่าสัตว์ พูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ฯลฯ … ปัณณัตติวัชชะ โทษทางพระวินัยบัญญัติ หรือโทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม เรียกว่าอาบัติ. อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง คือ (๑)ปาราชิก (๒) สังฆาทิเสส (๓) ถุลลัจจัย (๔) ปาจิตตีย์ (๕) ปาฏิเทสนียะ (๖) ทุกกฏ (๗) ทุพภาสิต
โลกวัชชะ แปลว่า “โทษทางโลก, ความผิดทางโลก, อาบัติที่มีโทษทางโลกด้วย” เช่น ภิกษุเสพสิ่งเสพติด มียาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น จัดว่าเป็น โลกวัชชะ เพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายบ้านเมืองจัดว่าอยู่ในสิ่งที่ผิด
โลกวัชชะ หมายถึง การกระทำที่แม้แต่คนทั่วไป(ซึ่งมิใช่พระภิกษุ)ทำก็เป็นความผิด เป็นความเสียหาย พูดง่ายๆว่า ผิดกฎหมาย เช่น เสพยาเสพติด โจรกรรม ฆ่า มนุษย์ ทุบตีกัน หมิ่นประมาทกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อพระภิกษุรูปทำในสิ่งที่กฎหมายทางโลกบัญญัติไว้ แม้พระภิกษุรูปนั้นจะไม่ผิดศีล แต่ก็ผิดกฎหมาย รับโทษดังคนทั่วไปเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น
โลกวัชชะ มาจาก โลกสฺส วชฺชํ =โลกวชฺชํ (โทษของชาวโลก/ความผิดทางบ้านเมือง, ผิดกฎหมาย (มิใช่โทษทางพระวินัย) ดังนั้นจึงชื่อว่า โลกวัชชะ โทษทางโลก (โทษตามกฎหมายของชาวโลก)… ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (๑) ประหารชีวิต (๒) จำคุก (๓) กักขัง (๔) ปรับ (๕) ริบทรัพย์สิน
โลกวัชชะ มิได้แปลว่า “โลกติเตียน” เหมือนที่ใคร ๆ แปลกันมั่ว (แปลภาษาบาลีโดยไม่มีความรู้ภาษาบาลี และแปลไม่ยึดหลักภาษา) ขณะเดียวกัน หากเราศึกษาพระพุทธศาสนากันอย่างเข้าใจแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ ให้พระสงฆ์ปกครองกันเอง เมื่อใครทำผิดพระสงฆ์ท่านก็จะจัดการกันเองตามพระธรรมวินัย …
พระพุทธเจ้ามิได้ทรงอนุญาตให้อุบาสก อุบาสิกาติเตียน ด่าว่า นินทา หรือใส่ความพระสงฆ์เลยแม่แต่น้อย ดังที่หลาย ๆ คนเข้าใจ และถ้าใครขืนทำเช่นนั้น “กรรม” ย่อมเกิดแก่คนนั้นเอง… “เพียงแค่คิดจิตก็ไม่ปกติ” แม้แต่พระภิกษุเองหากด่าว่าพระภิกษุ พระพุทธเจ้าก็ยังทรงปรับเป็นอาบัติ(ความผิด)…
พระภิกษุเองหากใส่ความพระภิกษุด้วยกัน แม้จะเพื่อหยอกล้อกันก็ตาม พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติเป็นความผิด แต่หากโจทย์ (เป็น ๑ ในขั้นตอนที่ทำตามพระวินัย) เพื่อรักษาความถูกต้อง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต และไม่ปรับเป็นอาบัติ
ขณะเดียวกัน “พระภิกษุ อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธให้ความเคารพ” .. พระภิกษุมิได้เป็นคนสาธารณะเหมือนนักการเมือง….หากพระภิกษุถูกใส่ร้าย ป้ายสี นินทา ตีเตียน หมิ่นประมาท ด่าว่า ท่านก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมเหมือนคนทั่วไปที่จะร้องขอต่อศาลให้ผดุงความยุติธรรม ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๗ และ ๓๒๘ สุดแต่จะทำผิดมาตราใด
หากโลกวัชชะ แปลว่าโลกติเตียน หรือ ชาวบ้านติเตียน ทุกอย่างก็จะกลายเป็นโลกวัชชะได้ทั้งนั้น เพราะคนที่ไม่ถูกติเตียนหรือไม่ถูกนินทานั้นไม่มีแน่แท้ นั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม สวดมนต์ไหว้พระ บิณฑบาต ใช้ผ้าบังสุกุล อยู่ป่าช้า อยู่กุฏิ เดินธุดงค์ ก็ถูกติเตียนได้ทั้งนั้น