กูฏวาณิชชาดก พ่อค้าโกง
พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพ่อค้าอยู่ในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า บัณฑิตได้เข้าหุ้นทำการค้ากับพ่อค้าคนหนึ่งชื่อว่า อติบัณฑิต (บัณฑิตยิ่ง, บัณฑิตเกิน)
วันหนึ่ง เขาทั้งได้สองชวนกันบรรทุกสินค้า ๕๐๐ คันรถไปขายที่ในที่ต่างแดน ได้กำไรกลับมาอย่างงาม เมื่อพวกเขากลับมาถึงเมืองพาราณสีแล้ว ถึงเวลาแบ่งเงินกัน นายอติบัณฑิตจึงเอ่ยปากขึ้นว่า “เพื่อนรัก เราควรจะได้ส่วนแบ่ง ๒ ส่วนนะ” “ทำไมละเพื่อน” พระโพธิสัตว์ถาม “ก็เพราะท่านชื่อบัณฑิตเฉย ๆ ควรได้ส่วนเดียว ส่วนเราชื่ออติบัณฑิต (บัณฑิตยิ่ง(กว่าบัณฑิต)) จึงควรจะได้ ๒ ส่วนนะสิ” อติบัณฑิตตอบ
พระโพธิสัตว์ไม่ยอมจึงกล่าวว่า “ทุนและพาหนะขนสิ่งของก็ออกเท่ากัน แล้วทำไมเวลาแบ่งจึงต้องแบ่งไม่เท่ากันละ” นายอติบัณฑิตจึงกล่าวว่า “งั้นเราไปให้รุกขเทวดาตัดสินกัน”
คนทั้งสองเดินไปที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งอติบัณฑิตได้ให้พ่อของตนเองไปแอบอยู่ในโพรงไม้นั้นก่อนแล้ว เมื่อไปถึงต้นไม้นั้น อติบัณฑิตก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้รุกขเทวดาฟัง และให้ช่วยเป็นผู้ตัดสินให้ว่าใครควรได้ส่วนแบ่งมากกว่ากัน ทันใดนั่นเองก็มีเสียงเปล่งออกมาจากต้นไม้นั้นว่า “ถ้าเช่นนั้น คนที่ชื่อบัณฑิตควรได้ ๑ ส่วน คนที่ชื่ออติบัณฑิตควรได้ ๒ ส่วน”
พระโพธิสัตว์ฟังคำตัดสินนั้นแล้วคิดว่า “เดี๋ยวกันรู้ว่าเป็นเทวดาจริง หรือเทวดาปลอมกันแน่” เดินไปหอบฟางมาใส่โพรงไม้แล้วจุดไฟทันที ทันใดนั่นเอง พ่อของนายอติบัณฑิตก็รีบหนีตายขึ้นข้างบนต้นไม้โหนกิ่งไม้แล้วกระโดดลงดินพลางกล่าวว่า
สาธุ โข ปณฺฑิโต นาม น เตฺวว อติปณฺฑิโต
อติปณฺฑิเตน ปุตฺเตน ปนมฺหิ อุปกุฏฺฐิโตติ ฯ
คนที่ชื่อบัณฑิตดีแน่ ส่วนคนที่ชื่อว่าอติบัณฑิตไม่ดีเลย
เพราะว่า เจ้าอติบัณฑิตลูกเราเกือบเผาเราเสียแล้ว.
(แปลอีกสำนวน) ธรรมดาคนที่เป็นบัณฑิตเป็นคนดี คนที่เป็นบัณฑิตเกินไป (อติบัณฑิต) เป็นคนไม่ดี
เราถูกไฟลวกเพราะบุตรที่เป็นบัณฑิตเกินไป (อติบัณฑิต)
เมื่อแผนการถูกเปิดโปง นายอติบัณฑิตจึงจำยอมแบ่งส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน
ข้อคิดจากกูฏวาณิชชาดก
- ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน
- คนเราจะเป็นคนดีหรือคนชั่วไม่ได้อยู่ที่ชื่อ
- อย่าใช้ชื่อเสียงข่มคนอื่น
- คนที่เป็นใหญ่เป็นโต (รุกขเทวดา) เมื่อกล่าวไม่เป็นธรรม ก็ย่อมขาดความเคารพยำเกรงจากผู้อื่น
ที่มา : http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt35.php
อรรถกถา กูฏวาณิชชาดก : https://84000.org/tipitaka/attha/jataka.php?i=270098